ปรับทิศชีวิต “หลังแอดมิชชั่น”

ต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นช่วงประกาศผลสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง หรือที่เรียกว่า ‘แอดมิชชั่น’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่า มีน้องๆ ที่สมหวังกับผลสอบ และยังมีอีกหลายๆ คนที่ผลสอบไม่เป็นดังหวังที่ตั้งใจไว้


ปรับทิศชีวิต “หลังแอดมิชชั่น” thaihealth


สำหรับน้องๆ ที่ผิดหวังจากผลสอบ การเลือกคณะ หรือมหาวิทยาลัยนั้น พญ. โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่า


“ในด้านของคุณพ่อคุณแม่ และคนรอบข้างน้องๆ ที่รู้ว่าลูกผิดหวังจากการสอบแอดมิชชั่น หรือไม่สามารถเข้าเรียนในคณะตามที่ตั้งใจไว้นั้น ควรให้กำลังใจและไม่กดดันลูก เนื่องจากความเครียดของเด็กๆ คือ การที่ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ได้ ความเครียดนั้นจะนำมาสู่ภาวะซึมเศร้า และเป็นสาเหตุของการทำร้ายตัวเองได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และสามารถสื่อสารในทางบวกได้ เช่น ลูกยังมีโอกาสในปีถัดไป หรือลองเรียนไปก่อน และถ้าเรียนแล้วไม่ถนัดก็สามารถสอบใหม่ได้ จะทำให้ลดระดับความตึงเครียดให้เด็ก


สำหรับตัวน้องๆ การลดความตึงเครียดจากภาวะความผิดหวังนั้น คือ การฝึกคิดในมุมบวก การมองว่าการสอบแอดมิชชั่น ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต การไม่ได้เรียนในคณะที่ตัวเองต้องการอาจเป็นโอกาสในการได้เรียนรู้บางอย่างมากขึ้น อาจจะลองเข้าไปเรียนดูก่อน และค่อยย้ายคณะ หรือลองมองว่าตัวเราเองมีความสามารถในการเรียนวิชาอื่นๆ ได้ดี การมองในแง่มุมบวกจะช่วยบรรเทาความเครียดของน้องๆ ได้”


พญ. โชษิตา แนะนำเพิ่มเติมว่า คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ญาติพี่น้อง ล้วนมีส่วนชี้แนวทางให้เด็กๆ ที่ผิดหวัง ได้มองเห็นแง่มุมที่กว้างขึ้น เข้าใจโลกความเป็นจริง และเข้าใจเรื่องราวของชีวิตมากขึ้น ด้านคุณพ่อคุณแม่นั้น ก็ต้องระวังเรื่อง “ความคาดหวัง” ในกรณีที่ลูกอยู่ในสภาวะผิวหวัง ต้องไม่พูดซ้ำเติมหรือพูดลดทอนกำลังใจ ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเขาเองทำให้พ่อกับแม่ต้องผิดหวัง สิ่งเหล่านี้จะทวีความเครียดให้เด็กมากขึ้น การทำใจยอมรับ และให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ครอบครัวควรจะมี


ปรับทิศชีวิต “หลังแอดมิชชั่น” thaihealthปรับทิศชีวิต “หลังแอดมิชชั่น” thaihealth


ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตมหาวิทยาลัยอย่างไรดี?


น้องๆ ที่สอบสัมภาษณ์ และรับคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจจะมีความกังวลว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัยแล้วจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ใช้ชีวิตทั้ง 4 ปีอย่างมีความสุข และได้เรียนรู้ทั้งการเรียน รวมทั้งการใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าที่สุด


พญ. โชษิตา แนะนำต่อว่า สาเหตุของความกังวลที่ทำให้น้องๆ เครียดที่สุด คือเรื่อง “การปรับตัว” เนื่องจากสังคมในชั้นเรียนมัธยม กับมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัยนั้นจะเจอทั้งเพื่อนกลุ่มใหม่ วัฒนธรรมของคณะ ความรู้สึกเคว้งคว้างยังไม่มีที่พึ่ง การจัดตารางชีวิตด้วยตัวเอง


“รูปแบบของการปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แนวคิดที่สำคัญคือ “วิธีคิดเชิงบวก” การพบเจอเหตุการณ์ใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ เป็นเรื่องของโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ถ้าหากเรามีวิธีคิดเชิงบวกอยู่เสมอ ก็จะเครียดน้อยลง ต้องคอยสังเกตความเครียดของตัวเองบ่อยๆ รู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง และทำความเข้าใจ หาวิธีจัดการกับความเครียด ความกังวลที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เพราะหากเราปล่อยไปจะทำให้เครียดสะสม ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี’


สำหรับวิธีคลายเครียด ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน บางคนชอบการฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นโยคะ ทำสมาธิ หรือออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีคลายเครียดที่ดีมาก สิ่งสำคัญคือ ค้นหามุมมองที่ดีของปัญหาที่เกิดขึ้น และมองว่าเป็นโอกาสสำหรับตัวเรา ก็จะทำให้น้องๆ สามารถปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี” คุณหมอ กล่าวทิ้งท้าย


ชีวิตในมหาวิทยาลัยนอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว การเรียนวิชาชีวิตจากการทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้น้องๆ เติบโต และเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี


 


 


เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ team content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code