ปรับค่านิยมใหม่เปลี่ยน ‘กฐินน้ำเมา’ เป็น ‘กฐินบุญ’

ปรับค่านิยมใหม่เปลี่ยน กฐินน้ำเมา เป็น  กฐินบุญ

ปรับค่านิยมใหม่เปลี่ยน ‘กฐินน้ำเมา’ เป็น  ‘กฐินบุญ’ 

            ค่านิยมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเกี่ยวกับการดื่มเหล้าในงานทอดกฐินช่วงออกพรรษา ถือเป็นค่านิยมที่คนในสังคมกระทำและปฏิบัติกันเป็นประจำ แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักคิดกันไปเองว่าการกินเหล้าจะทำให้เกิดความสนุกสนานครื้นเครงและทำให้บรรยากาศโดยรอบมีความสุขมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วงานกฐินถือเป็นงานบุญที่ต้องรักษากาย ใจ ให้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่บนศีล 5 เพื่อที่ใจจะได้รับรู้ถึงความเมตตาที่มาจากการให้อย่างแท้จริง

 

            ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับสำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก สำนักพระพุทธศาสนาจ.ราชบุรี โรงพยาบาลส่วนผึ้งและสำนักงาน จ.ราชบุรี พร้อมใจจัดงานพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า เพื่อถวายเป็นพระกุศลงานฉลองพระชันษา 96 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โดยมีข้าราชการและประชาชนมาร่วมถวายคำสัจจะเป็นจำนวนมาก

 

            ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะอธิษฐานว่า จักเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ปฏิบัติตามศีล 5 รักษาประเทศชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน และไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดที่ให้โทษ  เสียงคำกล่าวสัจจะของนายพิพัฒน์ ตัณฑเจริญรัตน์ ช่างตีเหล็กในอ.บางแพ จ.ราชบุรี ถือเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าในวันออกพรรษาปีนี้ เขาจะงดดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความตั้งใจที่เขาได้ทำต่อเนื่องมาถึง 3 ปีแล้ว

 

โดยก่อนหน้านี้ พิพัฒน์มักคิดว่าการดื่มเหล้าในงานบุญถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะความรู้สึกสนุกสนานมักเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกคนกินดื่มกัน แต่เมื่อเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆ หลายคนที่เคยดื่มอย่างหนัก แต่กลับเลิกดื่มได้หลังจากที่ได้เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า เขาก็เริ่มทำความเข้าใจ พร้อมกับสังเกตเห็นว่าหากมีการดื่มเหล้าภายในงานบุญ งานแต่งงาน งานบวชและงานศพ เพื่อนบ้านบางคนที่ไปร่วมงานเมื่อดื่มเหล้าเข้าไปแล้วมักมีอาการเอะอะ โวยวายหาเรื่องทะเลาะกัน ทำให้บรรยากาศของงานบุญที่น่าจะอิ่มเอมไปด้วยความสุขกลับเต็มไปด้วยความบาดหมางและขุ่นข้องหมองใจ ซึ่งเมื่อเห็นความจริงตรงนี้ทำให้เขาอยากลองเปลี่ยนแปลงตัวเองดูสักครั้ง ด้วยการเข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า

 

จนในที่สุดช่างตีเหล็กที่ดื่มเหล้ามานานหลาย 10 ปี ก็เริ่มเห็นถึงข้อดีในการงดดื่มเหล้า ซึ่งตรงนี้ทำให้เขาเห็นว่าแม้ไม่ได้ดื่มเหล้าในงานบุญก็สามารถสนุกสนานได้ พูดคุยกับเพื่อนบ้านที่มาร่วมงานด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความจริงใจ ไร้อารมณ์ขุ่นเคือง มากไปกว่านั้นเขายังเห็นว่าการงดดื่มเหล้าในทุกช่วงเทศกาลงานบุญ ช่วยทำให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้นและสิ้นเปลืองน้อยลงอีกด้วย

 

ซึ่งก็สอดคล้องกับความคิดของ นายกรณ์เอก แผงสุข เกษตรกรทางเลือกที่เคยดื่มหนักติดต่อกันมานานถึง 36 ปี เขาเล่าว่า ในอดีตเคยดื่มเหล้าทุกวัน จนลูกๆ ทนไม่ไหวต้องขอร้องให้เลิกดื่ม เพราะแทนที่จะเก็บเงินและใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว แต่เขากลับนำเงินที่ควรจะเป็นเงินออมและใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการดื่มเหล้า แต่การขอร้องจากลูกๆ ก็ดูจะไม่ได้ผลมากหนัก แม้ลึกๆ แล้วเขาจะรู้สึกอาย แต่ก็ยังคงเก็บความรู้สึกและไม่ยินดียินร้ายต่อคำพูดของลูกๆ

 

โดยเหตุการณ์ที่เขายังจำได้ไม่ลืมคือ ในวันที่พาลูกไปวัดเพื่อทำบุญวันออกพรรษา มือของเขาที่จับมือของลูกชายคนโตในระหว่างปักไม้ผ้าป่าลงบนกองกฐินนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นเหล้า จนลูกต้องเบือนหน้าหนี ทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่าควรหยุดดื่มเหล้าและกลับมาเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นได้แล้ว อีกทั้งในตอนนั้นสุขภาพเริ่มแย่ลง โรคภัยไข้เจ็บมารุมเร้า ประกอบกับเพื่อนทางเครือข่ายรณรงค์งดดื่มเหล้า ได้ชักชวนให้เข้าไปร่วมกิจกรรมภายในเครือข่ายด้วย เขาจึงค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนความคิดแล้วค่อยๆ งดดื่มทีละน้อยๆ ทำให้เขามีเวลาให้กับลูกและภรรยามากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นความอบอุ่นในครอบครัวก็กลับมาอีกครั้ง จนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตอนนี้ผมเป็นพ่อที่ดีให้ลูกดูเป็นแบบอย่างและปฏิบัติตามได้ด้วยความภูมิใจ

 

ทุกงานบุญประเพณีของคนไทย ไม่ควรมีการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าขัดต่อศีล 5 อยากฝากถึงทุกคนว่าอย่าให้ความคุ้นชินเรื่องการดื่มเหล้าในวันงานออกพรรษาและค่านิยมผิดๆ ที่ทำกันสืบเนื่องมานานมาทำลายความดีงามในระหว่างทำบุญเลย จริงๆ แล้วเปลี่ยนมาดื่มน้ำอะไรแทนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดื่มเหล้าเสมอไป อย่าทำให้การทำบุญทอดกฐินเต็มไปด้วยน้ำเมาเลย เพราะงานบุญเป็นประเพณีที่เราต้องสืบทอดต่อไปถึงลูกหลาน ดังนั้นเราจึงมาช่วยกันทำให้งานบุญปลอดเหล้า และกลายเป็นงานบุญประเพณีสีขาว กรณ์เอกกล่าวพร้อมแสดงแววตาที่เชื่อมั่นว่าเหล้าไม่ได้มีความสำคัญต่อชีวิตของเขาอีกต่อไป

 

ด้านคุณยายผล พิบูลย์แถว หญิงชราหน้าตาใจดีวัย 76 ปี ให้เหตุผลในการเดินทางมาร่วมงานพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้าครั้งนี้ว่า อยากทำให้ลูกหลานเห็นว่าแม้ตนจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังเห็นด้วยว่าการดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพแย่ลงแล้ว เหล้ายังทำให้คนลุ่มหลง มัวเมากับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ดังนั้นเชื่อว่าหากตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลานได้เห็น พวกเขาก็จะปฏิบัติตามและไม่ยุ่งกับเหล้าและบุหรี่  

 

ไม่มีใครชอบคนกินเหล้าหรอก ทุกคนก็รู้ว่าการกินเหล้าเป็นสิ่งไม่ดี บางคนกินแล้วพาล ก่อนกินเหล้าก็เป็นคนดี พอกินเหล้าไปแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ยิ่งงานบุญที่จัดขึ้นภายในวัด ยิ่งไม่ควรมีการกินเหล้าและสูบบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่ควรทำกันในวัด วัดเป็นสถานที่ร่วมความเชื่อและศรัทธาของชุมชน ดังนั้นวัดจึงควรเป็นเขตปลอดเหล้าและบุหรี่คุณยายผลกล่าวยืนยันด้วยน้ำเสียที่หนักแน่นและจริงจัง

 

            ทั้งนี้เมื่อถาม ด.ญ.สายรุ้ง ทิพย์วรรณ หนูน้อยวัย 12 ขวบ จากโรงเรียนวัดนาหนอง ถึงความเหมาะสมของการดื่มเหล้าภายในวัด ช่วงออกพรรษา ด.ญ.สายรุ้ง กล่าวด้วยน้ำใสสดใสว่า ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา งานศพและงานบวช ก็ไม่ความดื่มเหล้ากันภายในวัด เพราะวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ควรนำของมึนเมาเข้ามาในวัด ตนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดมากหากใครดื่มเหล้าแล้วชอบทะเลาะโวยวายและหายเรื่องกันในวัด เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเลยแม้แต่น้อย

 

            หนูไม่อยากให้โลกนี้ไม่มีเหล้า เพราะเหล้าเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้คนดื่มแล้วติดและอยากกินเหล้าทุกวัน ถ้าใครกินเหล้าแล้ว หากไม่มีความตั้งใจจริงที่จะเลิก เขาก็จะกลายเป็นคนติดเหล้า แต่ถ้ามีความตั้งใจและอยากเลิกเหล้าจริงๆ หนูเชื่อว่าทุกคนก็สามารถเลิกเหล้าได้ หนูน้อยวัย 12 ขวบกล่าว พร้อมยังเล่าต่อด้วยว่า พ่อกับแม่ของเธอก็เคยติดเหล้า แต่ตอนนี้เลิกอย่าเด็ดขาดแล้ว เนื่องจากเหล้าทำให้สุขภาพของทั้งท่าน 2 แย่ลง ดังนั้นเมื่อเห็นแล้วว่าการดื่มเหล้ามีแต่ให้โทษ เธอจึงไม่เคยมีความคิดอยากลองเป็นนักดื่มหน้าใหม่เลย

 

อย่างไรก็ดีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวถึงความคาดหวังต่อโครงการกฐินปลอดเหล้าว่า ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะทำให้คนในสังคมไทยค่อยๆ เลิกเหล้าได้ เพราะจะหวังให้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทุกคนเลิกเหล้าคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า จึงถือเป็นการทำให้ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงเรื่องความเหมาะสมและเข้าใจอย่างถูกต้องว่าไม่ควรนำเหล้ามายุ่งเกี่ยวกับงานบุญอีกต่อไป

 

เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในสังคม ตอนนี้ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขก็งดดื่มเหล้าและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทุกงานที่มีการเลี้ยงเหล้า ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการกระทำให้คนทั่วไปเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อเรื่องการรณรงค์งดดื่มเหล้า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

 

สำหรับความคืบหน้าและความคาดหวังหลังจากพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสสส. อธิบายเพิ่มเติมว่า ทั่วทั้งประเทศไทยก็มีการจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์กฐินปลอดเหล้า เพื่อทำให้คนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความเหมาะสมในการดื่มเหล้าระหว่างทำบุญ โดยการที่วัดมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ปลอดเหล้าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากวัดต้องพึงพาชุมชนในขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องพึ่งพาวัด ซึ่งถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือกัน งานในวันนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะมีถึง 398 วัดใน จ.ราชบุรี ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมในกิจกรรมในครั้งนี้

 

สังคมไทยในตอนนี้กำลังเผชิญกับความเชื่อและค่านิยมที่ผิดๆ ว่างานบุญต้องมีการดื่มเหล้าจึงจะถือว่าครบเครื่อง ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนความเชื่อของคนในสังคมจึงต้องทำการรณรงค์ทุกงานเทศกาล เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยตรงนี้ถือว่าเป็นแนวรบด้านวัฒนธรรมที่ทางสสส.กำลังผลักดันเพื่อให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชันเจนรองผู้จัดการ สสส. กล่าวทิ้งทาย

 

 

 

 

เรื่องโดย : สุดารัตน์ ขาเมระนิยะ team content www.thaihealth.or.th

 

 

update 02-10-52

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย :

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code