ปรับค่าตอบแทนบุคลากร รพ.ในพื้นที่ห่างไกล
สาธารณสุข พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับใหม่ สำหรับบุคลากรที่ทำงานในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการจ่ายตามสภาพพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อชดเชยโอกาสที่ต้องสูญเสียไปในหลายด้านจากการอยู่ในพื้นที่นั้น
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรแบบใหม่ ว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรตามหลักเกณฑ์ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ฉบับที่ 5 และ 6 พ.ศ.2552 นั้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการจ่ายตามสภาพพื้นที่ที่มีความทุรกันดาร เพื่อชดเชยโอกาสที่ต้องสูญเสียไปในหลายด้านจากการอยู่ในพื้นที่
ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับใหม่ โดยแบ่งการพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตามสภาพพื้นที่ โดยจะมีการจัดแบ่งกลุ่มระดับพื้นที่กันดารใหม่ เบื้องต้นอาจจะจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, กันดาร 1, กันดาร 2 และเจริญ ส่วนแต่ละระดับจะได้รับค่าตอบแทนเท่าไรอยู่ระหว่างการพิจารณา
2. ตามภาระงานหรือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (pay for performance : p4p) แต่เนื่องจากบุคลากรมีเงินเดือนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีการพิจารณาว่าการปฏิบัติงานระดับใดเหมาะสมกับเงินเดือนที่ได้รับส่วนการปฏิบัติงานที่เกินจากค่าเงินเดือน จึงจะนำมาใช้พิจารณาเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนตามภาระงาน ดังนั้น แม้จะเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่กันดารระดับเดียวกัน แต่โรงพยาบาลหนึ่งมีภาระงานมากกว่าอีกโรงพยาบาลหนึ่งค่าตอบแทนที่ได้รับก็จะไม่เท่ากัน
การดำเนินการเช่นนี้เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคลากรทุกพื้นที่ โดยในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จะมีการประชุมหารือในเรื่องนี้อีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2556
“แม้แต่โรงพยาบาลในจังหวัดเดียวกันก็อาจได้รับค่าตอบแทนจากพื้นที่กันดารต่างกัน เช่น จ.สงขลา รพ.บางกล่ำ ที่อยู่ใกล้ อ.หาดใหญ่ มาก จะได้รับจากส่วนกันดารน้อยกว่า รพ.สะบ้าย้อย การดำเนินการทั้งหมดต้องทำให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่ควรได้ก็ต้องลด ซึ่งต้องมีคนได้รับค่าตอบแทนจากส่วนความกันดารของพื้นที่ลดลงแต่จะได้รับเพิ่มในส่วนที่จ่ายตามภาระงานหากมีภาระงานมาก” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า