ปรับการกินคนไทย ปลูกฝังลดมัน-เค็ม

          สธ.ต่อยอดพัฒนาเมนูชูสุขภาพสากล ลดเค็ม ลดมัน เน้น!จุดขายการใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค เตรียมรองรับการเข้าสู่ AEC


/data/content/26125/cms/e_gmruvx234579.jpg

แฟ้มภาพ


          เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดีเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการดำเนินงานโครงการเมนูชูสุขภาพนั้น นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนมีสุขภาพที่ดี ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการบริโภคที่ ไม่เหมาะสม รวมทั้งขาดการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ทำให้มีภาวะน้ำหนักเกินซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น โดยเฉพาะโรคอ้วน กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพคนไทยและคนทั่วโลก


          สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทผัด ทอด มากเกินไป รวมทั้งดื่มน้ำอัดลมและกินขนมหวานที่ให้พลังงานสูง เมนูชูสุขภาพจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ประชาชนได้เลือกกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งนอกจากจะให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว เมนูชูสุขภาพยังได้มีการกำหนดมาตรฐานที่ดีต่อสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ 1) เป็นอาหารที่ปรุงประกอบด้วยอย่างน้อย 4 หมู่ ถ้ากินผลไม้ด้วยจะได้ครบทั้ง 5 หมู่ 2) มีปริมาณไขมัน ไม่เกินร้อยละ 25-30 ของการกระจายตัวของพลังงานในอาหารทั้งหมด 3) ปรุงด้วยอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน และ 4) รสไม่หวานและเค็มจัด


          ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประชากรไทยต่างก็ประสบปัญหาสุขภาพจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะจากการกินอาหารมันและเค็มเกิน รวมทั้งการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป ซึ่งการบริโภคเนื้อสัตว์มากจนเกินความจำเป็นของร่างกาย นอกจากจะทำให้สุขภาพเสื่อมแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ซึ่งได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น โดยพบว่าพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมทำให้คนอเมริกัน 3 ใน 4 เสียชีวิต ด้วยโรคใดโรคหนึ่งข้างต้นเป็นประจำทุกปี


          "ในขณะที่ประเทศไทยจากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 พบว่าคนไทยส่วนใหญ่กินเค็มเกินจากอาหารที่ใส่เครื่องปรุงรส ทั้งจากเกลือและน้ำปลา การบริโภคเป็นประจำทำให้ได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าที่ควรได้รับถึง 2 เท่า ส่วนการบริโภคไขมันอิ่มตัวของคนไทยจากการสำรวจพบมากในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ร้อยละ 13-15 หรือประมาณ 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำคือร้อยละ 7 ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว


          ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (CDC-USA) ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ"เมนูสุขภาพ ลดเค็ม ลดมัน" (Healthy Menu Low Salt & Low Fat) ฉบับ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน แนะนำ 10 เมนูยอดนิยมในแต่ละภาค ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับเกลือและไขมันมากเกินพอ โดยได้มีการดัดแปลงให้เป็นเมนูสุขภาพมีการปรับลดปริมาณส่วนผสมของไขมันและโซเดียมลงร้อยละ 20-73 แต่ยังคงรสชาติของสูตรและความอร่อยไว้เหมือนเดิม และขณะนี้สหรัฐอเมริกาเองได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นภายในประเทศ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เน้นเมนูอาหารที่ช่วยในการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ส่งเสริมให้มีการบริโภคอาหารจากพืชผักผลไม้ จากธัญพืชให้มากขึ้น บริโภคเนื้อน้อยลง ให้บริโภคอาหารที่เป็นอาหารสด ใหม่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงประกอบที่ซับซ้อนเพราะจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการสูญเสีย ส่งเสริมให้ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น เกลือ เนย ลด หวาน มัน เค็ม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชากรสหรัฐอเมริกา


          "ในโอกาสที่เชฟอาร์มสตรอง เชฟแถวหน้าของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเชฟที่ปรุงอาหารเมนูชูสุขภาพประจำทำเนียบขาวเดินทางมาประเทศไทย เพื่อมาแลกเปลี่ยนการปรุงอาหารเมนูชูสุขภาพลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ที่ร้านอาหารยุโรปซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านสุขุมวิทในกทม. ทางเชฟอาร์มสตรองได้สาธิตการปรุงอาหารเมนู "สตูไก่ เฟสติวัล" ในสไตล์ของเมนูชูสุขภาพแบบลดเค็มลดมัน ถือเป็นเมนูชูสุขภาพสากลตำรับไทยเมนูแรกที่ได้รับการพัฒนาสูตรขึ้นมาใหม่โดยเชฟมืออาชีพระดับโลก โดยกรมอนามัยจะผลักดันการพัฒนาเมนูชูสุขภาพสากลให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการอาหาร ผู้ปรุงอาหารในโรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ภัตตาคาร ร้านอาหารและภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งไทยและนานาชาติได้นำไปใช้เป็นเมนูประจำ ในการปรุง ประกอบอาหาร รองรับการเข้าสู่ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ ด้วยการสร้างจุดขายเรื่องการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code