ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของขี้เหล็กบ้าน
ที่มา : หมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ขี้เหล็กบ้านที่คนไทยรู้จักกันดีนี้มีชื่อในทางพฤกษศาสตร์ Cassia siamea Lamk.ซึ่งคำว่า siamea อันเป็นชื่อชนิด (species) ของขี้เหล็กนั้นมาจากคำว่า Siam หรือสยามนั่นเอง
ผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นขี้เหล็กบ้านนั่นเอง ความจริงขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา อันเดีย มาเลเชีย ฯลฯ แต่ไม่พบทั่วไปในป่าและบ้านเรือนเหมือนในเมืองไทย รวมพลเมืองของประเทศเหล่านั้นก็ไม่นิยมกินขี้เหล็กบ้านเหมือนคนไทยด้วย คงเป็นเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงทำให้ผู้ตั้งชื่อทางพฤกษาศาสตร์เลือกชื่อสยามเป็นชื่อของขี้เหล็กที่ใช้กันทั่วโลก
ขี้เหล็กบ้านเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงเต็มที่ประมาณ 15-20 เมตร วัดรอบต้นได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบ ใบเป็นใบรวมมีย่อย 6-10 คู่ ดอกเป็นช่อใหญ่ ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง ฝักแบนสีน้ำตาลเข็มยาว ประมาณ 15-20 เซนติเมตร
ขี้เหล็กบ้านจัดอยู่ในจำพวกไม้โตเร็วได้ชนิดหนึ่ง มีกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม และให้ร่มเงาตลอดปี จึงนิยมปลูกเป็นแนวข้างถนน เพื่อกันลม กันไฟป่า เป็นร่มเงาในสวนสาธารณะ หรือบริเวณบ้าน เป็นแนวระดับบนพื้นที่ลาดชัน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ใช้เลี้ยงครั่ง
สรรพคุณด้านสมุนไพรของขี้เหล็กมีหลายประการ คนไทยนิยมใช้ยอดและดอกมะขามอ่อนนำมาทำเป็นยาระบายอ่อนๆ หากต้องการให้ระบายแรงก็ใช้แก่น ซึ่งใช้รักษากามโรค แผล ฝี และขับน้ำคาวปลาได้ด้วย
- ใบแก่ ใช้ขับระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ
- ดอกบาน ใช้ลดความดันโลหิต แก้หืด แก้รังแค
- เปลือก ใช้แก้ริดสีดวง
นอกจากประโยชน์ด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ขี้เหล็กบ้านยังใช้เป็นต้นไม้ที่ปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและดินที่เสื่อมโทรมแล้วได้ดีมาก