ประโยชน์ของการยืดเส้นยืดสาย
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
วิถีชีวิตคนที่อยู่ในสังคมเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ยืดเส้นยืดสาย การยืดเส้นยืดสายเป็นสิ่งจำเป็นของคนทุกเพศ ทุกวัย สิ่งสำคัญคือทำตามความเหมาะสมกับตนเอง อย่าทำเกินขีดความสามารถ ทำจากง่ายไปยาก
สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคและอาการทางกระดูก กล้ามเนื้อ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกพรุน หรือหลังผ่าตัดข้อ ก่อนยืดเส้นยืดสายจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนลงมือปฏิบัติ
ประโยชน์ที่ได้จากการยืดเส้นยืดสาย มีดังนี้
- ทำให้ร่างกายทำงานได้ดี เพราะกล้ามเนื้อไม่ตึง
- ป้องกันและลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการทำงานและกิจกรรมต่างๆ
- ช่วยปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพ ท่าทาง (ซึ่งเป็นการป้องกันอาการปวดหลัง ปวดคอได้ดี)
- คนที่มีอาการปวดๆเมื่อยๆ เป็นประจำ จะช่วยรักษาและบรรเทาอาการลงได้
- คนที่อาการปวดหายแล้ว จะช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อหลังการบาดเจ็บและป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ หรือเกิดความผิดปกติในอนาคต
เริ่มต้นยืดเส้นยืดสายอย่างไร
- ใส่เสื้อผ้าที่หลวมหรือยืดหยุ่นได้ดี จะได้ไม่ขัดขวางการยืดกล้ามเนื้อ
- ยืดกล้ามเนื้อทีละส่วน เช่น กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อน่อง เป็นต้น จะทำให้รับรู้แรงต้าน แรงตึงของกล้ามเนื้อ จึงสามารถควบคุมการยืดได้ดีกว่าการทำหลายๆ ส่วนพร้อมกัน
- ทำทีละข้างของร่างกาย เช่น ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านขวา แล้วก็มายืดด้านซ้ายต่อ
- ยืดไปจนถึงจุดที่รู้สึกตึงเต็มที่ อย่ายืดเกินความสามารถของตนเอง หากยืดน้อยเกินไปยังไม่ถึงจุดตึงเต็มที่ก็จะไม่เกิดผลอะไร แต่หากยืดมากเกินจุดตึง ก็จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อหลังจากการยืดได้
- ค้างไว้อย่างน้อย 10 วินาที หากความสามารถเพิ่มขึ้นก็ค้างไว้ 20 วินาที
- ทำการยืดข้างละ 2-3 ครั้ง
- เคลื่อนไหวช้าๆ ราบเรียบ อย่ากระตุกหรือกระแทก เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อและเอ็นได้
- หายใจตามปกติ จะทำให้เกิดความผ่อนคลายได้ดี อย่ากลั้นหรือเบ่งลมหายใจ จะทำให้เหนื่อยเร็ว และเป็นผลเสียกับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- หลีกเลี่ยงท่าทางที่เสี่ยงอันตราย หรือฝืนความสามารถของร่างกายตนเอง
- ก่อนจะทำกายบริหารยืดกล้ามเนื้อ ควรจะอบอุ่นร่างกายก่อน จะทำให้กล้ามเนื้อยืดได้ดีขึ้น เช่น การเดินเร็วๆ หรือวิ่งเบาๆ แกว่งแขน แกว่งขาก่อนสัก 3-5 นาที
- สามารถทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อได้ทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์