ประเพณีแซนโฎนตาปลอดเหล้าวัฒนธรรมที่ดี คือ คุณค่าของวิถีชีวิต

ประเพณีแซนโฎนตาปลอดเหล้า   วัฒนธรรมที่ดี คือ คุณค่าของวิถีชีวิต

 

จ.สุรินทร์ต้นแบบ “บุญแซนโฎนตา” ขยายพื้นที่ใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง หวัง! สร้างคุณค่า ลดปัจจัยเสี่ยง ต่อยอดชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกสุรายาเมา สืบสานเทศกาลงานบุญปลอดเหล้า

พระอาจารย์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง และในฐานะพระนักรณรงค์ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์  เล่าถึงการเข้ามาทำงานรณรงค์ของท่านต่อไปว่า เริ่มทำงานปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2534 ในงานเข้าพรรษา งานกฐิน โดยเริ่มต้นจากในวัดก่อน จนเมื่อปี  2542 เริ่มอย่างจริงจังมากขึ้น ถ้ามีเหล้ามาเกี่ยวข้องในงานบุญหรือไม่มีการควบคุมจากเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานก็จะไม่รับงานนั้นเลย มีครั้งหนึ่งชาวบ้านที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมาถามว่า วัดนี้อยากได้ผ้าป่าหรือไม่ จึงบอกไปว่าถ้าไม่มีการงดเหล้าก็จะไม่รับเลย ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และจะได้เกิดความชัดเจนในการทำงานกับพื้นที่มากขึ้น หากไม่หนักแน่นพอการจัดงานบุญต่อๆไปก็มีแต่ไม่ได้บุญกัน สิ่งสำคัญคือการโน้มน้าวใจให้ชาวบ้านและผู้มาจัดงานเห็นความสำคัญแต่ยังคงยึดรากฐานประเพณีที่ดีงามแต่ดั้งเดิมด้วย…

 “ถ้าพวกโยมได้เงินมาหมื่น แต่ยังไม่คิดค่าใช้จ่ายที่มาจากค่าเหล้า ค่าเครื่องดื่ม อาตมาก็คงไม่เหลือเงินที่จะมาทำบุญสร้างวัดตามเจตนา แต่ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าได้เป็นแสนทั้งนั้น ทั้งๆ ที่หักลบไปแล้ว แทบไม่ค่อยมีเงินเหลือเลยก็ตาม จึงได้บอกไปตามตรงเลยว่าอาตมาไม่อยากนั่งดูคนกินเหล้า อาตมาก็ไม่ชอบ ถูกต้องแล้วหรือที่ให้พระมารอเพื่อให้คนกินเหล้าแล้วค่อยทำพิธีทางศาสนา หลังงานก็เกิดเหตุการณ์ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ทั้งทะเลาะกัน เกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรง เสียทั้งเงินและไม่มีอะไรดี” เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง กล่าว..

ประเพณีแซนโฎนตาปลอดเหล้า   วัฒนธรรมที่ดี คือ คุณค่าของวิถีชีวิต

นายบำรุง เป็นสุข ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานภาคอีสานตอนล่าง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประชาคมสุรินทร์สร้างสุข ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคอีสานตอนล่าง ได้ร่วมกันจัดเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างคุณค่า “บุญแซนโฎนตา” โดยได้เชิญภาคีเครือข่าย และชุมชนต้นแบบ ร่วมแลกเปลี่ยน เน้น 4 จังหวัด ที่มีการจัดงานประเพณีแซนโฎนตา ได้แก่  จังหวัดบุรีรัมย์  จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดศรีสะเกศ  และ จังหวัดร้อยเอ็ด  ซึ่งมีชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่  โดยได้ขยายผลไปสู่ชุมชนบนถนนสาย 24 ที่ร่วมรณรงค์ ถนน 24 ปลอดภัย ไม่ตายไม่เจ็บด้วย  รวมถึงหน่วยงานราชการ  เช่น  ตำรวจ  สรรพสามิต  โรงพยาบาล  สำนักพระพุทธศาสนา  โรงเรียน ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องในงานบุญ….

ด้านอาจารย์ศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาอุด ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาวัฒนธรรม อำเภอขุขันธ์ เล่าถึงการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จัดงานบุญประเพณีที่ปลอดเหล้า ว่า ได้พยายามที่จะให้มีการรณรงค์ทั้งจังหวัด โดยเริ่มรณรงค์มาตั้งแต่งานศพปลอดเหล้าก่อนเป็นอันดับแรก โดยพบว่าประสบความสำเร็จประมาณร้อยละ 80 แล้ว ส่วนงานแซนโฎนตานั้นถือว่าปีนี้จัดเป็นปีแรกอย่างยิ่งใหญ่ โดยรณรงค์ทั้งอำเภอเพื่อให้เกิดกระแสไม่ดื่มเหล้าไม่เลี้ยงเหล้าในงาน ..

“เมื่อก่อนจะมีเหล้าในพิธี ขาดไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ไม่มีคนเมาให้เห็นมากนัก เพราะเน้นการจัดงานที่ส่งผลกระทบโดยรวมและปลูกจิตสำนึก สร้างการรับรู้เพื่อให้เห็นว่าเหล้า เป็นปัญหาหลักของงานบุญ ที่เสมือนงานบาป ทำไปก็ไม่ได้บุญ หากมีเหล้าปะปน ผิดศีล การทำงานบุญปลอดเหล้านั้นสิ่งสำคัญจะต้องมีผู้นำทางความคิด เป็นผู้ที่ริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ ผู้นำหมู่บ้าน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา…

 

ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล.

Shares:
QR Code :
QR Code