ประหยัดพลังงาน…รับมือ “ไฟฟ้าดับ”?

 

แตกตื่นตกใจกันไม่น้อยกับกระแสข่าวประเทศไทยกำลังจะเผชิญหน้ากับวิกฤติพลังงาน….ไฟฟ้าดับ? เนื่องมาจากผลของการปิดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซที่พม่าและมาเลเซียพร้อมกัน ทำให้อาจเกิดปัญหาไฟตกหรือดับในบางพื้นที่ระหว่างวันที่ 5 -12 เม.ย. 2556 นี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามในแก้ปัญหาและรับมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยดี ไม่ว่าจะไฟฟ้าดับหรือไฟตก ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้ โดยการร่วมกันประหยัดพลังงาน แต่ครั้นจะลุกขึ้นมาอนุรักษ์พลังงานเพียงลำพังคงจะไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนักหากไม่ร่วมไม้ร่วมมือช่วยกัน

นายรุจน์  ภู่นิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่ปรึกษาสมาคมเครือข่ายบริการวิศวการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคีเครือข่ายศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอัตราการใช้พลังงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่บ้านเรายังต้องนำเข้าพลังงานจากเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และมาเลเซียเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการรณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงานแต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ได้ผลเท่าที่ควร  

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน บอกว่า ปัจจุบันเราสามารถที่จะผลิตพลังงานเองได้จำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนพลังงานที่ใช้ อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงาน โดยพบว่า แม้จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแต่การเติบโตทางพลังงานไม่ได้เป็นสัดส่วนเดียวกัน เนื่องจากสามารถควบคุมการใช้พลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นรณรงค์ให้ใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังคงซื้อเครื่องจักรมือสองจากประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า “ถูกตอนซื้อแต่กินไฟตอนใช้งาน…” แม้เครื่องจักรจะยังมีสภาพการใช้งานที่ดี แต่การใช้เทคโนโลยีเก่าก็ทำให้ไม่เกิดการประหยัดพลังงาน

“ปัญหาการอนุรักษ์พลังงานทุกวันนี้ไม่ได้ผล เพราะพฤติกรรมของคนไทยที่คิดว่า เมื่อพลังงานยังพอมีใช้ ถ้าคนอื่นใช้ เราก็ต้องใช้ เมื่อมีกำลังจ่ายก็จ่ายไป ดังนั้น อยู่ดีๆ จะมาอนุรักษ์พลังงานอยู่คนเดียวแล้วจะช่วยแก้ปัญหาคงไม่ใช่ การเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะถือเป็นการเตือนสติ และเร่งหามาตรการระยะยาวมารองรับแก้ไขปัญหา”  

นายรุจน์ บอกอีกว่า พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้ามาที่สุด ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นช่วงบ่าย ส่วนตามบ้านเรือนต่างๆ ช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามาก ช่วง 2 ทุ่มเป็นต้นไป ซึ่งทุกคนใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน ทำให้ต้องสำรองพลังงานเป็นจำนวนมาก มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในภาคอุตสาหกรรมจึงน่าจะมีการเลื่อนเวลาการทำงาน และกระจายการทำงานให้ไม่ตรงกับช่วงบ่าย ส่วนประชาชนไม่พ้นต้องปิด ลด เวลาการใช้งานกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านลดลง เช่น การลดการเปิดเครื่องปรับอากาศ (แอร์ ) พร้อมกับการดูโทรทัศน์ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แนะนำวิธีการประหยัดไฟภายในบ้านว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศถือว่ากินไฟมากที่สุดประเภทหนึ่ง อีกทั้งปัจจุบันเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แทบจะใช้กันทุกบ้าน แม้จะมีการรณรงค์การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ก็มักพบว่า เครื่องปรับอากาศเครื่องเก่าไม่ได้หายไปไหน แต่ใช้วิธีการเปลี่ยนห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศแทน

สำหรับวิธีการประหยัดแอร์ เมื่อใช้งานควรตั้งอุณหภูมิอยู่ที่ 27-28 C และเปิดพัดลมช่วยเพิ่มความเร็วลมในห้องจะช่วยประหยัดเพิ่มอีก 10% ซึ่งปกติพัดลมจะใช้พลังงานแค่ 50 วัตต์ ขณะที่เครื่องปรับอากาศใช้ถึง 1,000 วัตต์ เลยทีเดียว ส่วนการปิดแอร์ช่วงพักเที่ยงนั้น จะได้ผลหากปิดเครื่องปรับอากาศขณะที่ห้องนั้นไม่เปิดประตูหรือหน้าต่างทิ้งไว้ รวมถึงภายในห้องนั้นต้องไม่มีตู้ปลา หรือเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ ก็ไม่ช่วยประหยัดแต่อย่างใด เพราะความร้อนและความชื้นจากภายนอกจะเข้าไปในห้องปรับอากาศแทนที่ความเย็น ทำให้การเปิดแอร์อีกครั้งจะทำให้กินไฟมากขึ้น ที่สำคัญการปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่ใช้ห้องปรับอากาศจะสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการส่งเสริมโรงงานผลิตไฟฟ้าระดับย่อยในชุมชน ซึ่งบ้านเรามีพลังงานชีวมวล คือ สารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ขี้หมู เป็นต้น ในลักษณะของการรวมกลุ่ม เนื่องจากการผลิตโดยรายย่อยจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

“หากจะร่วมมือกันประหยัดพลังงานแล้ว น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไทยยังคิดว่าพลังงานหาซื้อได้ และไม่รู้สึกว่าพลังงานเป็นของตนเองก็จะไม่รู้สึกหวงแหน ดังนั้น การปรับต้นทุนพลังงานให้ตรงตามความเป็นจริง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความฟุ่มเฟื่อยควรเพิ่มภาษี ซึ่งหากเสียเงินมากๆ คนถึงจะรู้สึกอยากประหยัดเองโดยอัตโนมัติ ที่น่าเป็นห่วงคือ หากเราไม่มีพลังงานทดแทนในขณะที่พลังงานธรรมชาติค่อยๆ หมดไป อนาคตแม้จะมีเงินก็ไม่แน่ว่าจะสามารถเสาะหาพลังงานมาใช้ได้” นายรุจน์ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าขบคิด

หรือความจริงแล้วสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญด้านวิกฤตพลังงานนั้นมันมากกว่าไฟดับ! ดังนั้นแม้ “ไฟฟ้า” จะไม่ดับปัญหาก็ยังมีอยู่ ถึงเวลาแล้ว…ที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

 

 

ที่มา : วรรณภา บูชา Team Content www.thaihealth.or.th

 

Shares:
QR Code :
QR Code