ประสาทหูเสื่อม ได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู หรือหูอื้อ…
ที่มา : หนังสือ 'โรคภัยเล็กๆ ที่แฝงร้าย : วัยทำงาน' โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (ศรร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การสัมผัสเสียงดังเปรียบเสมือนอันตรายใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและยังไม่รู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมา หลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราล้วนต้องสัมผัสกับเสียงดังทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งบางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของเสียง
อย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานทอผ้า โรงกลึง โรงงานผลิตแก้ว โรงงานถลุงเหล็ก โรงเลื่อย ฯลฯ อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เจาะถนน นักดนตรีหรือดีเจสถานบันเทิง เป็นต้น
รวมถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การชอบเปิดลำโพงทีวี หรือใส่หูฟังฟังเพลงเสียงดัง เป็นต้น
อาการแบบไหนที่อาจเป็นโรคประสาทหูเสื่อม
มีอาการเหมือนหูอื้อ ระดับการได้ยินลดลง บางทีรู้สึกเหมือนมีเสียงวิ้งๆ หรือเหมือนแมลงหวี่บินอยู่ในหู โดยอาการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดความผิดปกติจนถึงระดับที่ทำให้เซลล์ขนเสื่อมหรือเยื่อแก้วหูทะลุก็จะทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวร และหากเป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังแล้ว การได้ยินจะไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้อีก
หากคิดว่าตนกำลังเข้าข่าย ควรงดการสัมผัสเสียงดังเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง หากการได้ยินยังไม่กลับมาเป็นปกติ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเข้าข่ายการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
รู้ไหมว่า…ระดับเสียงดังมากๆ ที่กลายเป็นมลภาวะทางเสียง ยังเป็นสาเหตุของโรคที่เราคาดไม่ถึง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ โรคกระเพาะ เป็นต้น
การป้องกันสำหรับผู้ทำงานแวดล้อมกับเสียงดัง
ลดแหล่งกำเนิดเสียง โดยใช้เทคนิคความรู้ทางวิศวกรรม เช่น ลดปริมาณเครื่องจักร
ออกแบบเครื่องจักรให้มีเสียงดังลดลง เป็นต้น
สวมที่ครอบหูหรือที่อุดหู เป็นต้น