ประชุมวิชาการฯ การแพทย์ฉุกเฉินไทยต้องก้าวไกลสู่อาเซียน
งานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ที่เพิ่งสิ้นสุดลง เป็นการเน้นย้ำการแพทย์ฉุกเฉินไทยต้องก้าวไกลสู่อาเซียน รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี โดยเปิด 5 แนวทางการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมสร้างองค์การกลางดูแลนโยบายสุขภาพระดับชาติ หวังดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 (national ems forum 2013) ในหัวข้อ “ภาคการแพทย์ฉุกเฉินไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน” ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรามีความปรารถนาร่วมกันในการสร้างภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินไทย ในกลุ่มประชาคมอาเซียน ทั้ง 3 เสาหลัก โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจที่มีความหมายรวมถึงการบริการด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ซึ่งจะต้องทำร่วมกันทั้งประเทศไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว เราได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีการเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ ซึ่งเราได้พูดคุยกันถึงเรื่องการจัดตั้งองค์กรกลางระดับชาติที่จะเข้ามาดูแลสุขภาพ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขาฯ เพื่อให้เป็นองค์กรที่ดูแลในเชิงนโยบายและกำหนดภารกิจต่างๆ เพื่อให้เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และมีการปรับโครงสร้างของกระทรวงที่เน้นเครือข่ายเขตบริการสุขภาพ โดยมุ่งหวังให้บริการสุขภาพประชาชน
“รัฐบาลพยายามลดปัญหาในเรื่องการเข้าถึงสิทธิการบริการ โดยจัดทำโครงการของในการดูแลสุขภาพ อย่างการบูรณาการ 3 กองทุนในเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ไม่ถามสิทธิ์โดยประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการดูแลที่ดี จะต้องไม่มีการปฏิเสธผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน จะต้องไม่ให้สิทธิเบิกจ่ายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ ซึ่งในทางปฏิบัตินโยบายนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก จึงอยากให้ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันสะท้อนปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป อีกทั้งปัญหาที่เป็นอุปสรรค คือ ความเชื่อและความศรัทธาทางการเมือง ซึ่งอยากฝากว่าในเรื่องการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินไม่ควรนำมิติการเมืองมาเกี่ยวข้อง ควรรักษาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากเราก้าวพ้นจุดนี้ไม่ได้ เราก็จะเหมือนไก่ในสุ่มที่จิกกัดกันเองเพื่อแย่งกันเป็นใหญ่” รมช.สาธารณสุข กล่าว
นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ที่ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยร้อยละ60เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ และอีกกว่าร้อยละ10เสียชีวิตขณะนำส่ง ส่วนที่เหลือเสียชีวิต ณ สถานพยาบาล ซึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้น และหากเจาะลึกลงถึงสาเหตุ พบว่า เกิดจากการขับขี่พาหนะที่ไม่มีสติ ดื่มสุรา ร่างกายไม่พร้อม ขับรถโดยประมาท ดังนั้นอยากให้เวทีนี้นำบทเรียน ประสบการณ์ที่เราสะสมมาตลอด มาช่วยกันคิดแลกเปลี่ยนกันเพื่อพัฒนาการรองรับอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ดีขึ้นด้วย รวมทั้งเห็นว่าควรมีการเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะอนามัย สร้างความเท่าเทียมในเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในบทบาทของอาเซียน ประเทศไทยเราได้พยายามจัดตั้งการเป็นmedical hubเพื่อให้เกิดการดูแลในเรื่องการแพทย์อย่างทั่วถึงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในบริบทของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ดังนั้นประเด็นในการดูแลสุขภาพในภูมิภาคนี้ก็ควรจะต้องมีการพัฒนาตามไปด้วย โดยมีประเด็นในการพัฒนา 5 เรื่องดังนี้
1.พัฒนาฐานการผลิตและการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยงด้านการแพทย์ฉุกเฉินในอนุภูมิภาค โดยพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินให้เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบูรณาการแผนพัฒนาด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
2.พัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาบุคลากรแพทย์ฉุกเฉินในทุกภาคส่วน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษา กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานของคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉิน
3.เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาคโดยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก โดยรักษาบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การแพทย์ฉุกเฉินของกรอบความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ และเฝ้าติดตามพัฒนาการและเข้าร่วมกรอบที่เป็นทางเลือกใหม่
4.สร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเคลื่อนย้ายบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเร่งดำเนินการด้านการพัฒนามาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายประชากร และแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้น
5.มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการป้องกันภัยจากการก่อการร้ายและอาชญากรรม ยาเสพติด ภัยพิบัติ และการแพร่ระบาดโรคภัย โดยพัฒนาศักยภาพและความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย ปัญหายาเสพติด และการหลบหนีเข้าเมือง
ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการณ์เลขาธิการ สพฉ. กล่าวถึงการจัดประชุมดังกล่าวว่าจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมให้รับมือกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนรวมถึงร่วมกันพัฒนาแนวทางให้การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศอาเซียนพัฒนาไปในแนวทางที่ทัดเทียมกัน การพัฒนาบุคลากร และแนวทางในการทำงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
“สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอาทิ รู้เขารู้เราการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศอาเซียน โดยมีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และประเด็นการเติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินไทย รวมทั้งมีการเสวนาวิชาการในประเด็นกำลังคนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การผ่านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินสามกองทุน และเรื่องวงการบันเทิงไทยกับงานการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย”นพ.ประจักษวิช เผย
ทั้งนี้ภายในการประชุมยังมีการมอบโล่รางวัลเครือข่ายบริการสาธารณสุขจังหวัดดีเด่น โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ เครือข่ายบริการสาธารณสุขที่ 10รองชนะเลิศอันดับ 1 เครือข่ายบริการสาธารณสุขที่ 9 และรองชนะเลิศอันดับสอง เครือข่ายบริการสาธารณสุขที่ 1และมอบโล่รางวัลชนะการแข่งขัน ems rally โดยทีมที่ชนะเลิศในชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (als) คือ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศ รองชนะเลิศอันดับ 1รพ.เลย และรองชนะเลิศอันดับ 2 รพ.มหาสารคาม ส่วนชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับเบื้องต้น (fr) ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ รพ.เลย รองชนะเลิศอันดับ1ทีมกู้ภัยฮุก 31 และรองชนะเลิศอันดับ2ได้แก่ ตะกั่วป่า จ.พังงา และรางวัลขวัญใจกรรมการได้แก่ทีมจาก รพ.บันนังสตาร์ จ.ยะลา
ที่มา : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ