ประชารัฐเพื่อสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หนุนโมเดลประชารัฐเพื่อสังคม จูงใจเอกชนจ้างงานคนพิการ-ดูแลผู้สูงอายุ
เมื่อวันศุกร์ สำนักงานคณะกรรม การสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที "ประชารัฐเพื่อสังคม" เพื่อผนึกกำลังภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสกล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ภาคีธุรกิจเพื่อการพัฒนาประเทศไทย"
ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ อยากให้มีการเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมผลักดันได้ เช่น การผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงสาธารณสุข แต่หากให้เฉพาะหน่วยงานดูแลก็มีกำลังน้อย ในขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง มีเครื่องมือ จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม ในครั้งนี้จึงเป็นการรับฟังข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่จะช่วยเสนอประเด็นที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ภาครัฐจะร่วมสนับสนุน อาทิ ให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนกรณีการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม.ภายใน 2-3 สัปดาห์หนี้
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำข้อมูลตั้งต้นของกิจกรรมความร่วมมือด้านสังคมที่จะประสานภาครัฐ ประชาสังคมและเอกชนได้มาเป็นจุดตั้งต้นในการประสานความร่วมมือ ได้แก่ 1.การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย 2.การจ้างงานคนพิการ 3.การพัฒนา คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 4.การลดอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บ และ 5.การสร้างเครือ ข่ายเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยให้ภาค เอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม ร่วมบริหารจัดพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง อาทิ ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ใกล้บ้านในอัตรา 1 ต่อ 100 ตาม ม.33 หรือส่งเสริมอาชีพคนพิการตาม ม.35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน ลงทะ เบียน 1.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการไม่มีงานทำ 46% หรือ 352,859 ล้านคน หากภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าอย่างน้อย 10,000 คน จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านบาท
"ปัจจุบันผู้สูงอายุ 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน และปัจจุบัน 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้ในอนาคตรัฐจะต้องจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลและการดูแลเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจหรือระบบบริการเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ โดยภาคประชาสังคมจะเป็นจุดจัดการในพื้นที่ เชื่อมโยงและประสานเครือข่ายในระดับชุมชน ติดตามการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมให้ในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้พิการ ครอบครัว และชุมชน หากมีความร่วมมือจากภาคเอกชนไปร่วมกันลงแรงจะเกิดประ โยชน์ที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ" ดร.สุปรีดากล่าว