ประกาศเจตจำนงการบริหารงานที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใส
เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล พ.ศ. 2562
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นายประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ได้ประกาศเจตจำนงการบริหารงานที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สสส. เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ และบุคลากรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พัฒนาหน่วยงานให้มีคุณธรรมและความโปร่งใส และพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อยับยั้งการทุจริต อีกทั้งไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการใดๆ อันอาจเล็งเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
สสส. ได้ให้ความสำคัญของการบริหารกิจการตามหลักธรรมาภิบาล ประกอบกับได้พัฒนาระบบการบริหารกิจการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเน้นย้ำและประกาศเจตจำนงการบริหารงานที่ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติให้บุคลากรยึดถือปฏิบัติควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นๆ โดยมุ่งหวัง ที่จะทำให้บุคลากรทุกระดับปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม เปิดเผย โปร่งใส และปราศจากการทุจริต และจะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 ด้านอย่างเข้มข้น ดังนี้
1. ด้านการปลอดจากสภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest : COI) หมายถึง การดำเนินการที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โดยที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ สสส. ไม่ใช้ฐานะหน้าที่และตำแหน่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
2. ด้านความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงาน (Accountability) หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และผลงานต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยความรับผิดชอบนั้นตั้งอยู่ในระดับที่สนองต่อความคาดหวังของสาธารณะ
3. ด้านความมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีโอกาสได้เข้าร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และร่วมกระบวนการพัฒนา ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา
4. ด้านความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การเปิดเผยการดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา สามารถชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
5. ด้านนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง การใช้อำนาจของกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับในการบริหารงานด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
6. ด้านความถูกต้องชอบธรรม (Integrity) หมายถึง การยึดมั่นและปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
ทั้งนี้ ให้บุคลากรทุกระดับยึดถือปฏิบัติตามเจตจำนงการบริหารงานที่ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนปฏิบัติตามเจตจำนงดังกล่าว จนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรและเป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนต่อไป