ประกาศปี60 ผัก-ผลไม้ปลอดพิษ
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
สธ.เผยเจาะเลือดเกษตรกรตรวจหาสารเคมีปี 59 พบอยู่ระดับ 37% เพิ่มสูงกว่าช่วงปี 55-59 ที่ตรวจเจอ 33% "หมอปิยะสกล" ประกาศ ปี 2560 เป็น “ปีแห่งการบริโภคผัก-ผลไม้ปลอดภัย” ผนึกกำลัง ก.เกษตร-สสส.ดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ด้าน "อย." เพิ่มรายชื่อสารเคมีครอบคลุมตามมาตรฐานสากล ยกระดับสถานที่ผลิต คัดและบรรจุให้มีระบบประกันคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่วน สธ.ประกาศ รพ.ในสังกัดพันแห่งใช้อาหารปลอดสารพิษ
วันที่ 23 มกราคม 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.สธ. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการบริโภคผัก-ผลไม้ปลอดภัย โดย นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการบริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม ปริมาณที่เพียงพอเป็นประจำ และจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ หัวใจขาดเลือด ร้อยละ 31 เส้นเลือดในสมองตีบ ร้อยละ 19 ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร ร้อยละ 19 มะเร็งปอด ร้อยละ 12 มะเร็งลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 2 เป็นต้น และจากการสำรวจสุขภาพประชาชน ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ใน 21 จังหวัด พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รับประทานผักและผลไม้อย่างเพียงพอ
จากผลการคัดกรองความเสี่ยงได้ทำการเจาะเลือดกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้สัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555-2559 อยู่ที่ร้อยละ 33 และในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 37 จะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้มากขึ้น ทำให้ผัก-ผลไม้ที่ขายในท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นด้วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า จากการประชุมหารือร่วมกัน ทั้ง สธ. โดย อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สสส. มีมติร่วมกันว่า ในปี 2560 ให้เป็นปีแห่งการบริโภคผัก-ผลไม้ปลอดภัย โดยมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ โดย สธ.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สสส.บูรณาการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตผักและผลไม้สดปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะควบคุมและลดปริมาณการใช้สารเคมีจากผู้ผลิตต้นทาง กลางน้ำ ส่วน อย.มีมาตรการทางกฎหมาย โดยการปรับจำนวนรายการและค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ให้ครอบคลุมและสอดคล้องมาตรฐานสากล พัฒนาและยกระดับให้สถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สดมีระบบประกันคุณภาพ รวมถึงการบ่งชี้รุ่นการผลิตเพื่อการตามสอบย้อนกลับ ส่วนปลายทาง ร่วมกับ สสส.ประสานเครือข่ายผู้ผลิต และสื่อสารองค์ความรู้ให้ผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงผักและผลไม้สดที่มีคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยอาหาร ทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สสส. เพื่อให้มีฐานข้อมูลอาหารปลอดภัยที่เป็นชุดเดียวกัน รวมถึงข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดจากการบริโภคเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพ
ส่วนทางด้าน สธ. รมว.สธ.กล่าวว่า สธ.ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 10,000 แห่ง ปรุงผักปลอดสารพิษให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยผักเหล่านี้ต้องมาจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 16 แห่ง อาทิ นครปฐม เชียงราย ตรัง ฯลฯ ก่อนขยายให้ครบทั้งหมด ขณะที่ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยก็จะขอความร่วมมือเช่นกัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมผักปลอดภัยนั้นจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่พร้อมดำเนินการและสามารถเดินหน้าได้เลยในเดือน มิ.ย. มี 16 แห่ง 2.กลุ่ม รพ.ขนาดใหญ่อีก 100 แห่ง และ 3.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (รพ.สต.) และ รพ.ในสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2561
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. สำหรับการควบคุมการใช้สารเคมีในผักก็มีกฎหมายควบคุมมาโดยตลอด ซึ่ง อย.ก็ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ลงไปตรวจสอบกลุ่มเกษตรกรอยู่เรื่อยๆ หากมีการตรวจเจอก็มีการปรับจำนวนเงิน มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่พบ แต่สิ่งที่พบคือ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการลงไปตรวจสอบ เพราะก็พบเรื่อยๆ ดังนั้นเห็นว่าการที่ประกาศให้ปี 2560 จะเป็นปีแห่งผัก-ผลไม้ปลอดภัย จึงควรมีการปรับวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการส่งเสริมให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร และทำความเข้าใจกับผู้ผลิตในการปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ที่ลดการใช้สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อลดอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อด้วย
สำหรับผู้บริโภคสามารถลดการตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ด้วยการล้างน้ำไหลผ่านน้ำนาน 2 นาที วิธีการนี้จะช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 25-65 ถ้าหากการใช้น้ำไหลก็อาจสิ้นเปลือง สามารถใช้ทางเลือกอื่นที่เหมาะสม ได้แก่ 1.ล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดา โดยผสมผงฟูครึ่งช้อนโต๊ะกับน้ำ 10 ลิตร แช่ผักผลไม้ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 95 และ 2.ล้างด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60-84 ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ล้างไข่พยาธิในผักสดได้อีกด้วย โดยปริมาณสารพิษตกค้างที่ลดลงจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีและปริมาณผัก-ผลไม้ในแต่ละครั้งของการล้าง.