ประกวดการ์ตูนวัยมัน รู้ทันบริษัทบุหรี่
ร่วมกันฉีกหน้ากากพ่อค้าสินค้าแห่งความตาย
ไม่ว่าจะเป็นเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือจะเป็นบุหรี่ ล้วนเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพกายผู้เสพ อันตรายต่อคนรอบข้าง อันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือน ในสังคมทั้งสิ้นที่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขที่สูงมากมายมหาศาล
ผู้หวังดีทั้งหลายจึงไม่ละความพยายามที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้เห็นโทษอันร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งของบุหรี่ให้คนเสพได้สำนึก ให้คนใกล้ชิดได้มีส่วนช่วยให้คนเสพเกิดสำนึกแล้วหลีกลี้หนีให้ไกลเพื่อหลุดพ้นอันตรายในทุกเรื่องทุกราว โดยเฉพาะสำนึกว่าคนเสพคนทั่วไปรับอันตรายแต่บริษัทผู้ผลิตรับทรัพย์อย่างเดียว
จากคำกล่าวของนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ว่า “ถ้าต้องการขจัดมาลาเรียให้ศึกษายุงให้ละเอียด แต่ถ้าต้องการขจัดมะเร็งปอด ให้ศึกษาหรือรู้ให้ทันบริษัทบุหรี่”เพราะบุหรี่คือสินค้าถูกกฎหมายเพียงอย่างเดียวที่ทำร้ายผู้บริโภคจากการใช้งานตามปกติ
แสดงให้เห็นว่า หากจะแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการตลาดของบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะการตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน เพราะบริษัทบุหรี่ไม่เคยยอมรับว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี แต่บอกเสมอว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องของการตัดสินใจของแต่ละบุคคล
บริษัทบุหรี่ไม่เคยยอมรับว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด ทั้งๆ ที่มีรายงานทางการแพทย์ระบุชัดเจนว่า นิโคตินในบุหรี่ คือสารเสพติดมากกว่า 20 ปี และมีฤทธิ์เสพติดมากกว่าโคเคน หรือเฮโรอีน ถึง 6 เท่า
มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทบุหรี่จ่ายเงินให้ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องเพื่อทำให้ตัวเอกของเรื่องสูบบุหรี่ หรือให้เห็นซองบุหรี่ ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะเยาวชนเข้าใจว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมปกติในสังคม ซึ่งนำไปสู่การเลียนแบบได้
มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทบุหรี่มีนโยบายทางการตลาดพุ่งเป้าไปที่เยาวชน ดังเช่นคำพูดของบริษัทบุหรี่ที่ปรากฏในเอกสารลับของบริษัท เช่น
“ฐานการทำธุรกิจของเรา อยู่ที่เด็กมัธยมปลาย”
“การจะให้บริษัทเราอยู่รอดและก้าวหน้าต่อไป เราจะต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เป็นเยาวชนมาเป็นของเราในระยะยาว.”
“ถ้าหากบริษัทบุหรี่ต้องหยุดทำการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่เด็กๆ บริษัทบุหรี่ก็จะล้มละลายภายใน 25 ถึง 30 ปี เพราะจะไม่มีลูกค้าเพียงพอที่ธุรกิจจะอยู่ได้”
มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทบุหรี่สนับสนุนกิจกรรมด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรมและดนตรี เพียงเพื่อให้เข้าถึงเยาวชน และเพื่อสร้างภาพลักษณ์
“ธุรกิจของเรา คือ ขายบุหรี่ ไม่ใช่ธุรกิจด้านกีฬา เราใช้ช่องทางด้านกีฬาเป็นช่องทางโฆษณาสินค้าของเรา.”
มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทบุหรี่ใช้โครงการเพื่อสังคม (CSR) เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทบุหรี่
“การอุปถัมภ์ (การบริจาค) ก็คือส่วนสำคัญของการตลาด เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของท่าน ไม่มีใครหรอกที่จะหยิบยื่นเช็คใบใหญ่ เพียงเพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเท่านั้น”
นายวอร์เรน บัทเฟต มหาเศรษฐีพันล้านอดีตผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทบุหรี่ อาร์ เจเรย์โนลด์ กล่าวว่า “ผมจะบอกให้ว่า ทำไมผมจึงชอบที่จะทำธุรกิจบุหรี่ เพราะมันลงทุนเพียงไม่กี่เพนนี แต่.สามารถขายได้หลายดอลลาร์”
ตัวแทนของบริษัทบุหรี่รอทแมนส์ตอบคำถามที่ว่า “การขายบุหรี่เข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนานั้นชอบด้วยศีลธรรมหรือไม่”ว่า “คงไม่ฉลาดที่จะละเลยตลาดที่กำลังขยายตัว ผมตอบคำถามยุ่งยากในเชิงศีลธรรมไม่ได้หรอก เราทำธุรกิจเพื่อสร้างความพอใจให้กับผู้ถือหุ้นบริษัทเรา”
ดังนั้น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ร่วมกับ สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็กโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเชิญชวนเยาวชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจบุหรี่ ร่วมกันฉีกหน้ากากพ่อค้าสินค้าแห่งความตาย โดยส่งผลงาน การ์ตูนช่องเข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดการ์ตูนวัยมันรู้ทันบริษัทบุหรี่ หัวข้อดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น
คุณสมบัติผู้ส่งผลงานเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายระดับอุดมศึกษา เป็นผลงานการ์ตูนขนาด1-4 ช่อง วาดบนกระดาษขนาด A3 (29.7x42 ซม.) ไม่จำกัดเทคนิค ไม่จำกัดจำนวนผลงาน
ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่www.ashthailand.or.th
ส่งผลงาน (พร้อมแนบใบสมัคร)ทางไปรษณีย์ หรือส่งด้วยตนเองได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 36/2 ซ.ประดิพัทธ์ 10 ถ.ประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร 0-2278-1828
ผลงานทุกชิ้น ที่เข้ารอบถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
*ปิดรับผลงานวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ประกาศผลการตัดสินทางเว็บไซต์ www.ashthailand.or.th ในวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม2552
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update: 24-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย