ปภ. แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม  หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำบริเวณที่มีระดับน้ำท่วมสูงเหนือเขาและกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก  ไม่ปล่อยเด็กลงเล่นน้ำหรือเดินลุยน้ำตามลำพังอย่างเด็ดขาด  ไม่เดินทางด้วยเรือและลงจับสัตว์น้ำในขณะที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก  เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต   สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถลอยตัวในน้ำได้ไว้ประจำบ้าน   เพื่อใช้พยุงตัวกรณีเดินลุยน้ำท่วม
 
ปภ.แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากการจมน้ำ
 
นายวิบูลย์  สงวนพงศ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในช่วงน้ำท่วม  โดยในกลุ่มผู้ใหญ่จะเกิดจากการออกไปหาปลา  เรือพลิกคว่ำ  ส่วนกลุ่มเด็กมักเกิดจากการไปเล่นน้ำ  เพื่อป้องกันอุบัติภัยจากการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ขอแนะวิธีปฏิบัติ  ดังนี้ 
 
การเดินลุยน้ำ  หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำบริเวณที่มีระดับน้ำสูงเหนือเขาและกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต ไม่เดินข้ามฝั่งโดยใช้สะพานไม้  เพราะสะพานอาจชำรุดหรือพื้นมีตะไคร่น้ำเกาะสะพานอาจทำให้พลัดตกน้ำ ไม่เดินลุยน้ำด้วยความเคยชิน  ให้ใช้ไม้สำรวจเส้นทาง  โดยเฉพาะการเดินลุยน้ำในช่วงกลางคืนให้ใช้ไฟฉายส่องทาง เพื่อป้องกันการพลัดตกท่อระบายน้ำหรือบ่อน้ำ  ทำให้ได้รับอันตรายได้   
 
การเดินทางด้วยเรือ  หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเรือในขณะที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก  นำอุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ไว้ในเรือ  กรณีเรือล่ม  จะได้ใช้พยุงตัวรอการช่วยเหลือ พร้อมทั้งเลือกใช้บริการเรือจากผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เรือและเส้นทาง  การเล่นน้ำ  ไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำหรือเดินลุยน้ำตามลำพังอย่างเด็ดขาด  เพราะกระแสน้ำที่ไหลแรงในช่วงน้ำท่วม  อาจพลัดเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้  
ผู้มีอาชีพจับสัตว์น้ำ ห้ามลงจับสัตว์น้ำในช่วงน้ำไหลหลากหรือน้ำท่วมขัง  เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนแม้จะเป็นแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะในช่วงน้ำท่วมกระแสน้ำและระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  หากจำเป็นต้องออกหาปลาในช่วงน้ำท่วมควรไปเป็นกลุ่ม  หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ และไม่ควรนำเด็ก ไปด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตสูง ที่สำคัญ ไม่ควรอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต  ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์  
 
หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย สำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่สามารถใช้ลอยตัวในน้ำได้ไว้ประจำบ้าน  เช่น เสื้อชูชีพ   แกลลอนเปล่าปิดฝา  ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา  ห่วงยาง   เป็นต้น   สำหรับใช้พยุงตัวกรณีเดินลุยน้ำท่วม
 
 
 
 
 
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
Shares:
QR Code :
QR Code