ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ

สร้าง ไบโอดีเซล

ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ

         

          เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ หลายคนอาจมองแค่เรื่องความไม่สะอาดสะสมที่เกิดจากการใช้น้ำมันหลายรอบ จนอาจมองข้ามอันตรายเนื้อแท้ที่สร้างให้เกิดสาร “โพลาร์คอมเพาว์” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือสารกลุ่ม “โพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน” ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

         

          ประเทศไทยจึงมีกฎหมายระบุว่า น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารต้องมีสารโพลาร์คอมเพาว์ ไม่เกิน 25% ขณะที่สารกลุ่มโพลีไซคลิก อโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย

         

          แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งดำเนินโครงการ “ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ” จึงร่วมกันพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบน้ำมันที่ทอดอาหารด้วยการวัดค่า “โพลาร์คอมเพาว์” ในแบบฉบับที่เด็กและเยาวชนสามารถร่วมกันทำได้

        

          กลุ่มนักเรียนอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) และโรงเรียนในเครือจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งต้องใช้น้ำมันในการทำงานให้นักเรียน และครูอาจารย์ทั้ง 3 มื้อ จึงเกิดไอเดียในการ “ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ” ให้กลายเป็น “น้ำมันไบโอดีเซล”

         

          โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ นำน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพแล้วมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ใช้ในรถยนต์ รถตัดหญ้าของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จะจัดการส่งต่อน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพไปยังเครือข่ายการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล

         

          นายสัตยา บานบัว นักเรียนชั้น ม.6 ตัวแทนกลุ่มไบโอดีเซล โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน อธิบายถึงวิธีการแปรสภาพน้ำมันให้เป็นไบโอดีเซลว่า

         

          ขั้นแรกต้องนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมากรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนนำมาต้มให้ได้อุณหภูมิ 120 องศา จากนั้นเทเมทานอล 2.5 ลิตรใส่แกลลอน เสร็จแล้วเทโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 100 กรัมลงไป ปิดฝาให้สนิทแล้วเทเขย่าเบาๆ ให้ละลาย

        

          จากนั้นเทสารละลายผสมลงในถังน้ำมัน แล้วกวน 30 นาที จากนั้นเทน้ำ 0.7 ลิตร ลงถังกวนเพื่อล้างไบโอดีเซล 30 วินาที ปล่อยให้กลีเซอรีนตกตะกอน 8 ชั่วโมง ก่อนแยกน้ำมันออกจากกลีเซอรีน และล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำ 0.75 ลิตร กวน 2-3 ครั้ง นำไบโอดีเซลไปไล่ความชื้นที่ 120 องศาเซลเซียส จำนวน 2-3 ครั้ง จนได้ไบโอดีเซลที่บริสุทธิ์

        

          ผมทำโครงการนี้มานานกว่า 4 ปีแล้ว ใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งในครัวเรือนและเติมน้ำมันรถ คิดว่านักเรียนได้ความรู้ แถมมีรายได้ เพราะจะนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปขายให้เกษตรกร ที่สำคัญผลงานชุดอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเป็นใบเบิกทางในการสอบเอ็นทรานซ์ด้วย”  สัตยากล่าว

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

 

update : 07-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code