ปฏิบัติการสร้างสุข ดับไฟใต้
หลายคนคงได้ยินชื่อโครงการพัฒนาระบบจัดการดูแลรายกรณี (case management unit – cmu) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ประกบตัว” ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้
ภารกิจประกบตัว ของ สสค.เกิดขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปัจจุบันทั้งปัญหาแม่วัยรุ่น ปัญหาการก่อความรุนแรงในหมู่เยาวชน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี่คือปัญหาใหญ่ระดับชาติที่อาจสร้างความยุ่งเหยิงตามมาอีกมากมายให้กับสังคมในอนาคต
ที่สำคัญ หากพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กย่อมมีมากกว่าภูมิภาคอื่นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง ยิ่งทำให้การดูแลแก้ปัญหายากขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น ที่โรงเรียนรามันศิริวิทย์ ในเขตอำเภอรามัน จ.ยะลา พื้นที่ซึ่งปรากฏข่าวความรุนแรงให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนถูกเพ่งมองในสายตาของหน่วยงานด้านความมั่นคงว่าที่มีเป็นเขตพื้นที่ “สีแดง” หรือพื้นที่เคลื่อนไหวของแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบด้วยนั่นเอง
สุพิศรา มะแด นักวิชาการศึกษาจากเทศบาลรามัน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในตัวอำเภอเมือง ยะลา ยอมรับว่า ปัญหาความไม่สงบ คืออุปสรรคใหญ่ในการเดินทางมาทำภารกิจ “ประกบตัวเป้าหมาย” เพราะไม่มีใครประกันความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตได้ แต่ความหวาดกลัวในอันตรายก็ไม่ได้ทำลายความตั้งใจได้
เยาวชนที่สุพิศราเข้าไปดูแล ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ขาดการดูแล เนื่องจากขาดหัวหน้าครอบครัว และมีความยากจนพิเศษ ทำให้ขาดเรียนบ่อยไม่มีทุนทรัพย์ในการศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งเด็กบางส่วนที่ห่างไกลความเจริญหรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารการเดินทางมาศึกษาที่โรงเรียนรามันศิริวิทย์ ไม่สามารถมาศึกษาเล่าเรียน เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีรถประจำทางทำให้ผู้เรียนเสี่ยงต่อการออกจากการเรียนกลางคัน
“เด็กที่เราเข้าไปกระกบในโครงการนี้มีจำนวน 37 ชีวิต ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยเพราะปัญหาความไม่สงบ ดังนั้นจึงต้องหาทีมงานซึ่งเป็นพื้นที่มาร่วมภารกิจ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครูในสถานศึกษา ทำให้สามารถจัดการดูแลรายกรณี ได้ตามแผนงานที่วางไว้” สุพิศรา บอก และสะท้อนว่า ผู้ปกครองและเด็กเป้าหมายมีความรู้สึกว่า ไม่ได้ถูกทอดทิ้งหรือปิดโอกาส เพราะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ฉุดรั้งให้คุณภาพการศึกษาล้าหลังกว่าภูมิภาคอื่น ดังนั้นภารกิจ “ประกบตัว”จึงเหมือนเป็นการหยิบอื่นโอกาสและไม่ตรีความห่วงใยให้กับคนพื้นที่อีกทางหนึ่งนั่นเอง
ทางด้านนายณรงค์ ชูเพชร ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาหน่วยจัดการดูแลรายกรณี ระดับจังหวัด กล่าวว่า การจัดการดูแลรายกรณีของจังหวัดยะลา เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น มีบุคคลากรทุกสาขาอาชีพเข้าร่วม ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และชุมชน โดยทดลองในพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ (เทศบาลตำบลรามัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น) มีเด็กด้อยโอกาสกว่า 200 คน โดยแบ่งออกไป 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กปกติ, เด็กกลุ่มเสี่ยง หมายถึงเด็กอยู่ในระบบโรงเรียนที่ยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าปล่อยไว้อาจจะมีปัญหาตามมาได้ และกลุ่มเด็กที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากไม่ดูแลเด็กกลุ่มนี้จะหลุดจากระบบการศึกษา
“เด็กด้อยโอกาสที่เข้าโครงการ มีอยู่หลากหลายกลุ่ม เช่นคุณแม่วัยใส กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กพิการ และบางส่วนเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ พ่อแม่เสียชีวิต หรือแยกทางกัน ทำให้กำพร้าไม่มีใครดูแล” นายณรงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบจ.ยะลา เปิดเผยด้วยว่า จากการทำงานตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสคืนสู่ห้องเรียน เด็กพิการก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากทีมประกบตัว จนได้เรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษ ยะลา ขณะเดียวกันคุณแม่วัยใสที่พบซึ่งมีอายุไม่ถึง 15 ปี ทีมประกบตัวได้เข้าไปให้ความรู้ เตรียมความพร้อมระหว่างตั้งครรภ์ หากประสงค์จะเรียนต่อก็จะส่งไปเรียนยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
“เด็กหนึ่งคนจะมีทีมประกบ 1-2 คน แม้ภาพรวมดูแล้วใช้งบประมาณมาก แต่การทำงานแบบนี้ถือว่าทุกภาคส่วนรับผิดชอบ”
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดย ไพศาล รัตนะ