ปฏิบัติการวัยซน อ่อนหวานต้านโรค

 

 

ด้วยสีสันของขนม ลูกอม น้ำอัดลม รสหวานที่ถูกปาก จูงใจและดึงดูดให้เด็กวัยใสน้องหนูวัยซนชอบบริโภค โดยลืมที่จะระมัดระวังภัยที่มาพร้อมกับความหวาน 

สถานการณ์การบริโภคน้ำตาล ปี 2554 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็น โดยทุกช่วงวัยบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ในรอบ 10 ปี และยังพบด้วยว่าสาเหตุของปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมเฉลี่ยถึงวันละ 300-400 ซีซี ขณะที่เด็กๆ บริโภคขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอดกรอบ เฉลี่ยวันละ 2 ถุง ซึ่งมีน้ำตาลเฉลี่ยถึงถุงละ 4 ช้อนชา ส่วนลูกอมเฉลี่ยวันละ 3 เม็ด แต่ละเม็ดมีน้ำตาล 1 ช้อนชา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สถานศึกษาหลายแห่งเห็นความสำคัญในการจำกัดปัจจัยเสี่ยงด้านโภชนาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน นำไปสู่การร่วมมือกันของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และโรงพยาบาลลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

“พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยจัดอาหารที่มีประโยชน์มาขาย ที่สำคัญคือห้ามขายขนม ลูกอม น้ำอัดลม ของทอด ของที่มีรสเค็ม รสหวานจนเกินไป” มาตรการควบคุมการขายอาหารของโรงเรียนแย้มสอาดรังสิต คลอง 4 ลำลูกกา ที่ นาง ศุภลักษณ์ ชูเดช ผู้อำนวยการโรงเรียน เน้นย้ำและปฏิบัติเช่นนี้มากว่า 9 ปี หลังเข้าร่วมโครงการกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

ผอ.ศุภลักษณ์ บอกว่า เดิมทีโรงเรียนมีสัดส่วนเด็กอ้วนมากกว่าร้อยละ 10 แต่หลังเข้าร่วมโครงการควบคุมการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ก็ลดลงเหลือร้อยละ 7 การเลือกอาหารที่ครบตามหลักโภชนาการให้กับนักเรียนจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก 

โดยอาหารกลางวันจะเน้นตามหลักโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ 1 มื้อต้องประกอบด้วยเมนูที่มีผักเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 4 ช้อนโต๊ะ และอาหารทุกอย่างจะไม่เน้นประเภททอด รสจัด เค็ม หวานจนเกินไป แน่นอนว่าไม่มีน้ำอัดลมในโรง เรียน และถูกแทนที่ด้วยน้ำสมุนไพรที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพียง 1 ส่วนในน้ำ 10 ส่วน และของว่างคือนมจืดที่ให้ดื่มวันละ 2 มื้อ เช้าและบ่าย 

ด้านการเรียนรู้ ในทุกระดับต้องสอดแทรกปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักประโยชน์ ความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์ นักเรียนที่ระดับสูงขึ้นจะเน้นประยุกต์การเรียนรู้เป็นโครงการด้านโภชนา การต่างๆ เช่น การเพิ่มคุณค่าให้กับไข่โดยนำมายำรวมกับสมุนไพร 

ไม่ต่างจากโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม คลอง 7 ลำลูกกา ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริโภคอาหารในโรงเรียนเช่นกัน ที่นี่ประกาศให้เป็นโรงเรียนปลอดขนมหวาน น้ำอัดลม 

นางจิตรา บุญเขตต์ ครูอนามัย บอกว่าโรงเรียนส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์ในทุกระดับชั้น ที่สำคัญคือการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน กิจกรรมต่างๆ จะปราศจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างเช่นกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ภายในงานจะไม่มีขนม ลูกอม น้ำอัดลม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ถึงพิษภัยขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม เพื่อสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน 

น้องโอม ด.ช.พงศกร หมอศาสตร์ ชั้นม.1 โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม ยอมรับว่าปัจจุบันรู้จักเลือกบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำอัดลมที่แทบจะไม่ดื่มเลย 

“เมื่อเราได้เห็นจากการทดลองที่พบว่ากรดในน้ำอัดลมสามารถกัดสนิมและเนื้อหมูให้เปื่อยยุ่ยได้ ก็คิดว่าหากน้ำอัดลมลงไปอยู่ในท้องของเราก็คงมีสภาพเหมือนกัน และน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในน้ำอัดลมจะทำให้เราเป็นเบาหวานได้ในอนาคต ตอนนี้ผมก็เลิกกิน หันมากินน้ำเปล่าดีที่สุดครับ” น้องโอมเล่าอย่างภูมิใจ

ด้าน ทันตแพทย์หญิงวัลธินี สยามพันธ์ จากโรงพยาบาลลำลูกกา บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือนักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น เพราะทั้งน้ำอัดลม ลูกอม มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญ แม้น้ำตาลจะให้พลังงานกับร่างกาย แต่เมื่อมีมากเกินไปจะสะสมทำให้ฟันผุ เมื่อมีฟันผุลุกลามเด็กก็จะมีปัญหาการเคี้ยว หากเคี้ยวไม่ได้ก็จะทำให้กินลำบาก ส่งผลให้น้ำหนักตัวลด ไม่ถึงเกณฑ์ เด็กจะมีปัญหาเกี่ยวพันไปถึงด้านพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา เล่น เรียน นอนไม่ได้ และการรักษาฟันผุต้องใช้เวลานาน ต่อเนื่อง เด็กต้องขาดเรียนบ่อย มีผลต่อการเรียน

“ผู้ปกครองเองต้องดูแลเอาใจใส่ลูกๆ โดยพยายามให้บริโภคอาหารที่ครบตามหลักโภชนา การ ปฏิเสธที่จะตามใจลูกหากต้องการกินขนมที่ไม่มีประโยชน์ และพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในเรื่องการกิน” คุณหมอวัลธินีกล่าวพร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลต่อสุขภาพเด็กโดยตรง

โดยเฉพาะโรงเรียนที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตลอดทั้งวัน ต้องตระหนักและสร้างสภาพแวด ล้อมที่เอื้อให้เด็กห่างไกลจากของหวานอย่างจริงจัง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code