ปฏิบัติการพลังงานทางเลือกเพื่อชุมชนสุขภาพ
สสส.เร่งหาทางออกให้คนไทย แก้วิกฤตพลังงาน
ปัจจุบันนี้เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติพลังงาน อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้พลังงานของมนุษย์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อคนไทยเอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องด้วยการนำเข้าพลังงานของประเทศไทยในปี 2550 ได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
หลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ได้นิ่งเฉยต่อสภาวะวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น ต่างร่วมมือแสวงหาแหล่งและภูมิปัญญาพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ
แผนงานสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป โดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงปัญหาวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น จึงได้จัดให้มีการสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชนขึ้นอย่างหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ปฏิบัติการพลังงานทางเลือกเพื่อชุมชนสุขภาพ ชุดโครงการสนับสนุนจัดการความรู้และประเมินผล โครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน”
รองศาสตราจารย์ น.พ.กำจร ตติกวี รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนงานสนับสนุนโครงการทั่วไปและนวัตกรรม สสส. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตพลังงานเป็นพิษทั้งจากสังคมและสิ่งแวดล้อม การแสวงหาพลังงานทางเลือกภายใต้ภูมิปัญญาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“โครงการปฏิรูปพลังงานทางเลือกที่สสส.ให้การสนับสนุน จะเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเองทั้งในครอบครัว ชุมชน และระดับชาติ และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการร่วมกันอย่างชาญฉลาดของประชาชนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนเพื่อสุขภาวะในชุมชน จำนวน 23 โครงการ และให้ศึกษาเผื่อมีความเป็นได้อีก 7 โครงการ เพื่อค้นคว้าและส่งเสริมให้มีการใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม”
“เตาเผาถ่านเอนกประสงค์ 200 ลิตร” จึงถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างพลังงานทางเลือก ที่ผ่านการคิดค้นจากภูมิปัญญาของชุมชน
“เมธา ญาดี” สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลคอทราย จังหวัดสิงห์บุรีเล่าว่า “จากเดิมชุมชนคอทราย มักประสบปัญหาราคาก๊าซหุ้งต้มที่ไม่แน่นอนผมจึงปิ๊งไอเดียเรื่องการทำเตาเผาถ่านเอนกประสงค์ 200 ลิตรขึ้นมา เพื่อทดแทนก๊าซหุ้งต้ม”
“เตาเผาถ่ายที่ว่านี้ มีการคิดร่วมกันกับชาวบ้านหลากหลายชุมชน ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ท่อนใหญ่ในการเผาถ่ายเหมือนที่อื่นๆ เพราะเตาเผาถ่านของเราใช้ไม้กิ่งเล็กๆ และเปลือกผลไม้ที่เหลือ หรือผลไม้ที่เสียมาทำเป็นถ่าน ซึ่งชาวบ้านก็ชอบและเข้าร่วมโครงการของเรากันเกือบหมดทั้งหมู่บ้าน ถ่านที่ได้สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ เช่นถ่านรูปผลไม้ก็เอาไปใส่ตู้เสื้อผ้าเพื่อดูดความชื้น จนมีคนมาศึกษาดูงานในชุมชนเพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนเขาเป็นจำนวนมาก”
เช่นเดียวกับ ร.ต.ธรรมศักดิ์ พันธ์แสนศรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ต.แม่ทราย อ.ร้องกวาง จงแพร่ ผู้คิดค้นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนมลาบรี (ชนเผ่าตองเหลือง) จ.แพร่ เล่าถึงการคิดค้นพลังงานทางเลือกว่า
“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าชนเผ่าตองเหลืองจะย้ายที่อยู่อาศัยออกไปตามสภาพของใบตอง แต่ชนเผ่าตองเหลืองที่หมู่บ้านมลาบรี เป็นชนเผ่าที่คอนข้างพัฒนาแล้ว เพราะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ผมและนักศึกษาจำนวนหนึ่งจึงได้เข้าไปสำรวจหมู่บ้านและจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่เราจัดทำขึ้นนั้นต้องผลิตออกมาในรูปแบบของเครื่องปั่นไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบการจัดการน้ำพื้นฐานของหมู่บ้าน ซึ่งตกแล้วเครื่องละไม่กี่บาท และถ้าหากได้รับการพัฒนาขึ้นมากกว่านี้ ผมมองว่าอาจจะขยายไปสู่ชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองก็ยังได้”
ในการพัฒนาโครงการต่างๆ เหล่านี้สิ่งที่ผู้พัฒนาเล็งเห็นร่วมกัน นั่นคือการนำไปใช้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง และตัวชุมชนจะต้องเป็นผู้เข้ามากำหนดบทบาทร่วมกันอย่างถาวรด้วย
“วิจิตรา ชูสกุล” มูลนิธิพัฒนาอีสาน ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในการวางแผนพลังงานชุมชนนั้น เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการเรื่องพลังงาน และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราต้องเน้นตามศักยภาพในแต่ละพื้นที่ บนพื้นฐานแห่งความพอเพียงและความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้นๆ
และเราซึ่งอยู่ในสังคมใหญ่ก็ควรที่จะพึงตระหนักในการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อนำมาใช้แล้วย่อมมีวันหมดไป ไม่สามารถหามาทดแทนใหม่ได้ ดังนั้นในการที่จะปฏิรูปเรื่องพลังงานชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิรูปจิตใจของพวกเราในการใช้พลังงานก่อนจะเป็นประเด็นที่ดีมาก”
หลากหลายความเห็นและหลากหลายชุมชนที่เข้าร่วมในประชุมครั้งนี้ สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาวิกฤตพลังงานไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 23-09-51