ปฏิญญาชุมชน ข้อตกลงร่วมใจ

 

ปฏิญญาชุมชน ข้อตกลงร่วมใจ

 

 

หลักของการบริหารบ้านเมืองนั้น แบบไหนดีที่สุด คงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ไม่ว่าจะถามนักรัฐศาสตร์ท่านไหน ก็คงไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จรูปให้อย่างแน่นอน

ต่อปัญหาเรื่องกฎระเบียบ การบริหารงานราชการต่างๆ ชุมชนก็อยากให้รัฐส่วนกลางฟังชุมชน รัฐส่วนกลางก็อยากให้ชุมชนเชื่อฟังตนเอง เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ยังเถียงไม่จบเสียที

หากที่ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎ์ธานี ที่นี่ทำกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสุภาษิตโบราณที่ว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่”

ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านควนใหม่ หมู่ที่ 3 อันเป็นที่ทำการของศูนย์เรียนรู้กฎระเบียบหมู่บ้าน ผู้ใหญ่วิสาร มุกดา เป็นเสมือนวิทยากรประจำศูนย์

“ช่วงหนึ่งสมัยหนึ่ง ต้นยวนมีปัญหาต่างๆ มาก ทั้งจากคนภายในจนภายนอก เช่น ป่าไม้ถูกทำลาย ปัญหายาเสพติด และแกนนำท้องถิ่นคิดว่าน่าจะจัดการเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งกฎระเบียบส่วนกลาง จึงจัดตั้งคณะกรรมการในการประสานงานความมั่นคง และออกกฎระเบียบในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผมก็ได้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาโดยชุมชน มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย พอตัวเองได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ก็เลยนำแนวคิดนั้นมาสานต่อ” ผู้ใหญ่วิสารเปิดเรื่อง

อันที่จริงเรื่องการจัดการท้องถิ่นโดยท้องถิ่น จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมืองไทยถูกยึดอำนาจการตัดสินใจไปให้ส่วนกลางมานานเสียจนท้องถิ่นเกือบจะลืมวิธีการดั้งเดิมของตนเอง

ชาวต้นยวนมีความกล้าหาญ และความสามารถ ที่ออกกฎระเบียบควบคุมดูแลชุมชน โดยที่ไม่ขัดกฎหมายในระดับประเทศ คน บ้านเดียวกันขึ้นศาลเสร็จก็ต้องเจอหน้ากัน เช่นนั้นแล้วคุยกันเองไม่ดีกว่าหรือ

“ก่อนที่จะใช้กฎระเบียบหมู่บ้าน เวลาเกิดข้อพิพาทในหมู่บ้านส่วนใหญ่ ถ้าไม่ไปจบที่โรงพักก็ต้องให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามาจัดการ ทีนี้พอคุยกันไม่จบ ก็ต้องกลายเป็นคดีความ ขึ้นโรงขึ้นศาล หลักการของเราคือ เราจะคิดว่า คนบ้านเดียวกัน ถ้าขึ้นศาลเสร็จก็ต้องกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านเดียวกัน คือไม่อยากให้หักกันไปเลย หลังประกาศใช้กฎระเบียบหมู่บ้าน เวลาใครทำผิด เราก็จะพยายามไม่ให้ถึงตำรวจ พูดคุยกันเองก่อน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ตัดสิน ส่วนเรื่องร้ายแรง เช่น ฆ่ากันตาย หรือเรื่องยาเสพติดอะไรก็ตามที่เกินอำนาจ อันนี้ต้องส่งต่อให้ตำรวจ หรือส่วนกลางเป็นคนจัดการ”ผู้ใหญ่ฯ ขยายความ

ผู้ใหญ่ฯ เพิ่มเติมมาอีกอย่างว่า “อย่างไรก็ดี เราก็ต้องถามลูกบ้านทั้งสองฝ่ายว่า จะยอมให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นคนตัดสินหรือไม่ ถ้ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอม เราก็ต้องปล่อยไป ที่ผ่านมารู้สึกจะมีเรื่องที่ดินอยู่สองสามเรื่อง”

มิใช่แค่เพียงความยินยอมพร้อมใจในตอนใช้งานเท่านั้น หากแต่ในกระบวนการร่าง ชาวบ้านก็มีสิทธิ์ในการรับรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วยเช่นกัน

“ผมจะเป็นคนร่างกฎร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ในขั้นตอนก็จะปรึกษาคนเก่าคนแก่บ้าง ปรึกษาผู้ใหญ่บ้านคนเก่าบ้าง แต่ว่าร่างเสร็จแล้ว จะยังไม่ประกาศใช้เลย ต้องส่งร่างให้ชาวบ้านอ่าน ใครจะแก้ก็จะไปเสนอเวลาประชุมหมู่บ้าน เวลาจะออกกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติม ชาวบ้านก็ต้องเห็นพ้องด้วยกัน หรือบางครั้งก็จะมีการยกเว้นระเบียบในบางข้อที่เห็นว่า กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของคนในหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่ฯ เล่าต่อ

แม้ประชามติทางตรงแบบนี้ อาจจะไม่เหมาะในระดับประเทศ แต่ในระดับหมู่บ้าน วิธีการนี้อาจเป็นอีกแนวทางให้ประชาชนในหมู่บ้านได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบได้

ชุม

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code