‘ปฏิญญากรุงเทพฯ ‘โลกจับมือหยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


'ปฏิญญากรุงเทพฯ 'โลกจับมือหยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง thaihealth


แฟ้มภาพ


ปิดฉากการประชุมไปด้วยความเรียบง่ายภายใต้วาระการแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของประเทศไทยในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congress ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วม และองค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ


ระหว่างการประชุมมีกิจกรรมให้ผู้ร่วมประชุม 600 คนทั่วโลกได้ร่วมยืนแสดงความอาลัย และได้เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่นการลุกขึ้นเต้นก่อนที่จะมีเวทีสัมมนา รำวงมาตรฐานก่อนจะประกาศ ปฏิญญาร่วมกัน นอกจากนี้ภายในห้องประชุม ยังจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุม เลือกที่จะยืนหรือนั่งเก้าอี้ พร้อมกันนี้ สสส. ได้เปิดตัวเครื่องมือวัดค่า เผาผลาญเทคโนโลยี ฟิลฟิต ("FeelFit" ThaiHealth Innovative Equipment for Physical Activity) ที่แม่นยำตามหลักสากล โดยจะนำมาใช้การออกกำลังกายแบบแกว่งแขวน ซึ่งการแกว่งแขน 1 ชม. ช่วยเผาผลาญได้ 220 แคลอรี


สาระสำคัญในการประชุมตั้งแต่วันที่ 16-19 พ.ย. 59 ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติฯ สรุปว่า ทำให้ทุกประเทศรับรู้โดยทั่วกันว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกำลังเป็นภัยเงียบที่ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ภาวะเนือยนิ่ง พบว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน อายุ 11-17 ปี


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นปฏิญญาฉบับแรกของโลกที่เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติการเพื่อกิจกรรมทางกายอย่างแท้จริงซึ่งจะนำผลไปร่วมประชุมในครั้งถัดไปในปี 2018 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษรับเป็นเจ้าภาพ


'ปฏิญญากรุงเทพฯ 'โลกจับมือหยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง thaihealth


ศ.ดร.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริม กิจกรรมทางกาย กล่าวว่า ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน 6 ข้อ คือ 1. ยืนหยัดเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนการดำเนินการตามนโยบายที่นำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573  2. สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับชาติ ทุกประเทศสมาชิกควรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทุกวิชา ชีพ อาทิ สุขภาพและสาธารณสุข นักวางแผนผังเมืองและการคมนาคม สถาปนิกและภูมิสถาปนิก กีฬาและสันทนาการ นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบาย


4. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาค  5. สร้างความเข้มแข็งด้านการติดตามประเมินผลและการเฝ้าระวัง โดยปัจจุบันยังมีช่องว่างในระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์กิจกรรมทางกายในกลุ่มเยาวชน รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มอายุระหว่าง 5-13 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ โดยหลายประเทศยังไม่มีระบบการติดตามแนวโน้มหรือการรายงานข้อมูลได้อย่างทันเวลา


และ 6. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและการประเมินผล โดยเฉพาะในด้านที่ยังขาดองค์ความรู้ เช่น การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ การวิจัยเชิงปฏิบัติการในประชากร การประเมินผลนโยบาย


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ผู้จัดการกองทุน สสส.) กล่าวว่า การดำเนินการของประเทศไทยตามปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอนั้น สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ยกร่างยุทธศาสตร์ กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำงานให้แก่กระทรวงต่าง ๆ


นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้มีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้ยุทธศาสตร์ 5x5x5 คือ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ ตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย คือ 1. ระบบการศึกษา 2. สถานประกอบการ 3. สวน สาธารณะ นันทนาการ สถานออกกำลังกาย และกีฬามวลชน 4. สถานพยาบาลในระบบสาธารณสุข 5.คมนาคมขนส่ง ผังเมือง และชุมชน และ 5 ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้มีการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์การเพิ่มกิจกรรมทางกาย


ทั่วโลกเห็นพ้องกันไปในทางเดียวกันว่ามาตรการตอบโต้ต่อการเพิ่มขึ้นของภาวะเนือยนิ่งทั่วโลกนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อกระตุ้นและกำหนดนโยบายและสร้างสิ่งแวด ล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย

Shares:
QR Code :
QR Code