ปฎิบัติอย่างไรไม่ให้พี่น้องอิจฉากัน
พี่น้องจะอิจฉากันหรือไม่ขึ้นกับท่าทีของผู้ใหญ่รอบข้างทั้งสิ้น เช่น พ่อ แม่ ญาติอื่นๆ
เตรียมพี่ให้มีความรู้สึกที่ดีในการจะมีน้อง
ชี้ให้เห็นความน่ารักของเด็กเล็กๆเช่นภาพเด็กที่น่ารักที่ใช้เป็นภาพโฆษณาต่างๆ ระหว่างแม่ท้องควรบอกเด็กว่าแม่มีน้องในท้อง พูดให้เป็นประโยชน์ของการมีน้อง เช่น น้องจะเป็นเพื่อนเล่นไม่เหงา ไม่เอาน้องมาขู่เด็กให้ประพฤติดี
ไม่พูดว่าจะรักน้องมากกว่าเด็กประพฤติไม่ดี ไม่เชื่อฟัง ไม่พูดว่าขืนดื้อมากอีกหน่อยมีน้อง เด็กจะกลายเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครรัก เขาจะรักน้องกันหมด หลังคลอดควรให้เด็กมีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้องด้วย ให้จับให้ “อุ้ม” ช่วยอาบน้ำ จับขวดนม ให้บทบาทพี่ ทำให้พี่รู้สึกสำคัญ ชมเชยพี่ว่า “หนูเก่งแล้วช่วยน้องหน่อยลูก” “น้องยังเล็กอยู่ไม่เก่งเท่าหนู”
ให้ความสนใจเอาใจใส่พี่เท่าเดิม ให้ความสนใจพี่เมื่อเด็กเรียกร้องเป็นครั้งคราว ไม่ควรทุ่มเทเวลาเอาใจใส่แต่น้องคนเดียว ไม่พูดเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง ไม่พูดเปรียบเทียบกันไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น เรื่องของใครก็พูดเฉพาะเรื่องของคนนั้น ไม่เน้นปมเด่น หรือปมด้อยของใคร เช่นพูดชมแต่พี่ไม่ชมน้องเลย หรือชมแต่น้องไม่ชมพี่มีความรักเด็กเท่ากันอย่างจริงใจ ผู้ใหญ่ไม่ลำเอียงรักใครมากกว่าใคร ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเสมอต้นเสมอปลาย (ข้อนี้สำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กไม่อิจฉากัน)
ตัวอย่างพี่น้องอิจฉากัน
น้องชายเกลียดพี่ชาย พี่อายุ 13 ปี ม.1 น้องอายุ 11 ปี ป.6 ครูพบว่าเด็กเกลียดพี่ชายมาก เด็กคุยให้ฟังจึงบอกพ่อแม่ให้มาปรึกษาจิตแพทย์เด็ก น้องป่วยบ่อยตอนเด็ก บอบบาง เป็นโรคลมชักแต่เรียนเก่ง ได้เกรด 3,3,4,4 ทำอะไรได้ดีถ้าต้องการทำ พี่เก่งรอบด้าน การเรียน กีฬา ดนตรี วาดภาพ ช่วยพ่อแม่ มีน้ำใจ ร่าเริง ในสายตาคนทั่วไปจึงว่าพี่เก่งกว่าน้อง
ระยะหลังน้องไม่ยอมอยู่ใกล้พี่ ต่อต้านลึกๆเช่นพ่อเล่นบอลกับน้อง พอดีพี่เข้ามาเล่นด้วย ก็มี ท่าทางหงุดหงิดแล้วจะค่อยๆหลบออกไป พ่อเรียกก็ไม่มาเล่น สิ่งไหนที่พี่ทำ น้องจะไม่ยอมทำ แม้ทำได้ เช่น วาดภาพ แต่จะทำสิ่งที่พี่ไม่ชอบทำ เช่น เต้นรำ พบว่าใครๆชอบชมพี่ ส่วนพี่บังเอิญชอบตำหนิน้องบ่อยๆ เช่นเวลาลงจากรถน้องไม่ช่วยพ่อแม่ถือของ พี่ก็จะว่า “ทำไมไม่ช่วยพ่อแม่ถือของ” เวลาน้องทำอะไรไม่ดีพี่มักว่าน้อง อิจฉาน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง
เด็ก 7 ปี แม่มีท้องใกล้คลอด เด็กมีอาการดังนี้
มีอาการ ไม่ยอมไปโรงเรียน งอแง ถามไปถามมาจนเด็กบอกว่า “ไปไหนก็เอาน้องไปด้วย ไปโรงพยาบาลก็เอาน้องไปด้วย ไม่เอาผมไป แม่อยู่กับ น้องตลอดเวลาเลย” ในกรณีนี้ แพทย์จึงแก้ไขโดยการอธิบายให้เด็กฟังว่า แม้น้องอยู่กับแม่ตลอดเวลาก็ไม่มีความหมายอะไรในเวลานี้ เพราะว่ากับน้อง แม่พูดด้วยก็ไม่ได้ เล่นด้วยก็ไม่ได้ อุ้มก็ไม่ได้ ไม่เหมือนพี่ ที่แม่พูด เล่น อุ้ม ได้ทุกอย่าง หลังอธิบายเด็กก็ยอมไปโรงเรียน
ที่มา: เว็บไซต์จิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยศาสตราจารย์แพทย์หญิงนงพงา ลิ้มสุวรรณ