ปกป้องเยาวชนติดบุหรี่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ร่วมปกป้อง GenZ ห่างไกลจากบุหรี่ ตั้งเป้าลดนักสูบหน้าใหม่
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม น.ส.ศรัญญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "Gen Z Gen STRONG : ไม่สูบ" ว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปี ตั้งแต่ปี 2534-2558 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคน ในปี 2558 ในจำนวนนี้พบว่าเป็นกลุ่มอายุ 15-18 ปี ถึง 3.1 แสนคน หากช่วยกันปกป้องกลุ่มนี้จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90 แต่จากผลสำรวจยังพบว่ามีการลดลงที่ไม่ชัดเจน เพราะยังมีสิ่งเร้า ดึงดูดใจให้สูบ เช่น ร้านค้าที่ตั้งวางบุหรี่ขายอย่างชัดเจน มีโฆษณา มีกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนั้นควรจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วย
นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย นิติกรจากสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ใช้มากว่า 20 ปี ยังล้าสมัยและมีช่องโหว่ที่ทำให้ธุรกิจยาสูบใช้เป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อให้มีมาตรการปกป้องเด็กจากการเข้าถึงบุหรี่ เช่น การห้ามแยกซองบุหรี่ขายเป็นมวน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงรายงานการวิจัยจากศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ว่า ผลวิจัยพบว่าหากสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ร้อยละ 10 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้ 63 พันล้านเหรียญ หรือกว่า 220,000 ล้านบาท จากการลดจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ การลดลงของค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นหลังจากที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง เนื่องจากคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 1 ปี โอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันจะลดลง ครึ่งหนึ่งทันที