ปกป้องเด็ก พ้นจากภัยบุหรี่

       ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ฉบับใหม่ กำลังจะเข้า ครม. และส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่


ปกป้องเด็ก พ้นจากภัยบุหรี่ thaihealth


      น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ ธราดล ที่ปรึกษารัฐมน ตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานานแล้ว โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและจัดทำร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขึ้น ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2554 และนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและดำเนินการปรับปรุงจนร่าง พ.ร.บ. ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน โดยมีการประชุมคณะกรรมการทั้งหมด 66 ครั้ง ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่


      “กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องปรับ ปรุงกฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ โดยได้เพิ่มเติมมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการตลาดและการส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ เช่น การตลาดผ่านพริตตี้ การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต ทางไลน์ ทางเฟซบุ๊ก”


     นี่จึงเป็นเหมือนจุดชี้ชะตาของประเทศไทย ว่าจะสามารถต่อสู้กับอิทธิพลทางการค้าของ “สินค้าบาป” อย่างบุหรี่ โดยมีสุขภาพของเยาวชนและคนในชาติเป็นเดิมพัน


      “มีบางองค์กร ออกมาแถลงข่าวหลายครั้ง และซื้อหน้าโฆษณา โดยพยายามที่จะบอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำลายระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ ชาวไร่ยาสูบ ไปจนถึง “ปลายน้ำ” นั่นคือ ผู้ค้าปลีก หากอ่านจบเพียงแค่เนื้อข่าว สังคมอาจจะตกใจว่ากฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อคนหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรากหญ้า แต่เมื่อสืบค้นไปถึงแหล่งที่มาของ ข่าว กลับพบว่า องค์กรที่เป็นแนวหน้าลุกขึ้นมาคัดค้านกฎหมายนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ สมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่บริษัทบุหรี่หนุนหลังอยู่นั่นเอง” น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการเครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในอาเซียน กล่าว


     น.ส.บังอร กล่าวว่า การที่บริษัทบุหรี่สนับ สนุนให้กลุ่มต่าง ๆ ออกโรงแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกมาคัดค้านกฎหมายใหม่ ๆ ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทนั้น เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่อุตสาหกรรมบุหรี่ใช้ในประเทศต่าง ๆ มานานแล้ว วิธีนี้ได้เกิดขึ้นหลายครั้งมากในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย


     ร่าง พ.ร.บ.มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีก คือ ห้ามฝ่าฝืนทำการโฆษณา ณ จุดขาย และห้ามจำหน่ายบุหรี่เป็นมวน ๆ (ต้องขายเป็นซอง) เพื่อทำให้เด็ก ๆ ที่มีกำลังซื้อน้อยเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่น้อยลง ขณะนี้เด็กไทยสามารถซื้อบุหรี่ได้ง่าย โดยร้อยละ 70 ของเด็กที่สูบบุหรี่ซื้อแบบรายมวน ขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายนี้ รวมทั้ง 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเชีย


      ความจริงจึงมีอยู่ว่ายอดขายบุหรี่ที่เป็นร้อยละ 12.5 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงเหลือร้อยละ 11.25 ทำให้ร้านโชห่วยเดือดร้อนขนาดหนักตามที่สมาคมการค้ายาสูบไทยกล่าวอ้าง เป็นความจริงหรือไม่


     สมาคมการค้ายาสูบไทยได้รับการตั้งขึ้นและสนับสนุนการดำเนินการโดยบริษัทบุหรี่ชื่อดัง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า แท้จริงแล้วบริษัทบุหรี่ข้ามชาติต่างหากที่ต้องการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อปกป้องผลกำไรปีละ 3,000 ล้านบาทในประเทศไทย แต่เนื่องจากสังคมไม่ให้น้ำหนักการคัดค้านของบริษัทข้ามชาติ จึงใช้กลยุทธ์ผ่านทางร้านค้าปลีก ออกมาคัดค้าน


     อีกประเด็นที่สมาคมการค้ายาสูบลุกขึ้นมาบอกกับสังคม คือ กฎหมายนี้ “ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน” กลุ่มเหล่านี้ทำเสมือนมองไม่เห็นว่าการเสพติดบุหรี่ของเยาวชนไทยที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและการตายก่อนเวลาเป็นเรื่องไม่สำคัญ มองว่าการที่คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่วันละ 140 คน ปีละ 50,710 คน แต่ละคนตายก่อนเวลา 12 ปี เป็นเรื่องไม่เร่งด่วน


     คำถามสำคัญที่ต้องคิดคำนวณให้ดีก่อนตอบก็คือ ชีวิตของเด็กไทยกับกำไรจากการขายบุหรี่ อะไรมีค่ามากกว่ากัน


 


 


 


      ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code