‘บ้านใจดี’ เอื้ออาทรผู้สูงอายุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"บ้าน" สถานที่อันอบอุ่น เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะเพศและวัยใดก็ตาม แต่เมื่อประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี การออกแบบพื้นที่พักอาศัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และต้องคำนึงถึงการใช้งานในอนาคตด้วย ดังนั้นการเตรียม การออกแบบที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการแสดงความรักและความใส่ใจจากลูกหลาน และยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับตัวเราเองในอนาคตด้วยเช่นกัน
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็กซ์จัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องผู้สูงอายุ ในงาน "สูงวัยอย่างมีคุณภาพ Active Ageing" ที่สีลมคอมเพล็กซ์ โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ "บ้านใจดี" องค์ความรู้เรื่องการเตรียมที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เรื่องของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของ สสส.ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญาและสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้องค์ความรู้จาก สสส.แก่ประชาชน ผ่านประสบการณ์จริงและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับนิทรรศการ "บ้านใจดี" เป็นตัวอย่างในการเตรียมที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุในสังคมไทยอยู่คนเดียวเยอะมาก ประมาณ 9% ในจำนวน 15% ที่เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องฉุกคิดของทุกคนว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองได้
บ้านใจดีจึงเป็นโมเดลในการออกแบบและเป็นเสมือนแรงผลักดันให้บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ได้รับการก่อสร้างให้ผู้สูงอายุจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย เพราะสำหรับผู้สูงอายุแล้ว การใช้ชีวิตในบ้านจะต้องมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงวัยหลายคนมีปัญหาทางกายภาพกับที่อยู่อาศัย ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ การลื่น หกล้ม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของห้องน้ำ ห้องส้วม ทางเดินตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน
โดยหลักในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ "ห้องนอน" เป็นห้องที่มีความสำคัญเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในห้องนี้มากที่สุด ห้องนอนจึงควรอยู่ชั้นล่างและเข้าห้องน้ำได้สะดวก โดยผู้ดูแลควรมองเห็นได้เสมอ สำหรับเตียงผู้สูงอายุควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 ซม. มีพื้นที่รอบเตียงทั้ง 3 ด้านประมาณด้ายละ 90 ซม. "ห้องน้ำ" พื้นห้องน้ำต้องเรียบ ไม่ลื่น ไม่มีขั้น ควรมีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ หรือเก้าอี้อาบน้ำเตรียมไว้ มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 45 ซม. แต่ไม่เกิน 50 ซม.
ราวจับรูปตัวแอลต้องมีไว้สำหรับด้านติดผนัง สามารถรับน้ำหนักตัวคนได้ประมาณ 100 กิโลกรัม โถส้วมควรเลือกชักโครกนั่งห้อยขาแทนนั่งยอง และมีระดับไม่ต่ำเกินไป เพื่อการลุกนั่งสะดวก มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 45 ซม. นอกจากนี้ควรมีราวจับรูปตัวที ใช้สำหรับติดข้างโถส้วมด้านที่ไม่ติดผนัง ส่วนอ่างล้างหน้าต้องติดในระดับที่เหมาะสม โดยด้านติดผนังถึงขอบอ่างควรเป็นที่ว่างและสูงจากพื้นประมาณ 75 ซม. เพื่อความมั่นใจควรมีราวจับ 2 ด้านเพื่อช่วยการทรงตัว
"ชุดรับแขก" เพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ควรใช้เก้าอี้ทรงสูงเนื้อแน่นที่มีเบาะนั่ง นอกจากช่วยให้นั่งสบาย ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ และควรมีที่เท้าแขนสำหรับผู้สูงวัย ส่วนที่มุมหรือขอบโต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ ควรจะติดที่กันกระแทก เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
"แสง" เพิ่มแสงสว่างทั้งจากธรรมชาติและที่ประดิษฐ์ขึ้น ให้ส่องสว่างเพียงพอถึงในทุกจุดเพื่อลดอุบัติเหตุ เพราะสายตาของผู้สูงอายุอาจจะฝ้าฟางแล้ว หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่ไม่ควรเป็นแสงจ้า เลือกใช้แสงนวลโดยเฉพาะบริเวณทางเดิน บันได และห้องน้ำ
"สวิตช์และปลั๊กไฟฟ้า" ควรกระจายอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก มีแสงสว่างส่องถึง ระดับของสวิตช์ไฟฟ้าไม่ควรสูงเกินไปเพื่อให้ผู้สูงอายุกดได้สะดวกโดยไม่ต้องเอื้อม ประมาณ 120 เซนติเมตรจากพื้น ส่วนระดับปลั๊กไฟฟ้าต้องไม่ต่ำเกินไป เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องก้มลงไปมาก ประมาณ 90 เซนติเมตรจากพื้น
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นห้องไหนๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องขนาด แต่เป็นการคิดเผื่อคนที่จะต้องใช้งานห้องนั้นๆ และสุดท้ายก็อย่าลืมดูแลเอาใจใส่ด้านจิตใจของผู้สูงอายุด้วย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข