บ้านแฮดโมเดล “ชุมชนดี สุขภาวะดี สิ่งแวดล้อมดี”

บ้านแฮดโมเดล ชุมชน สิ่งแวดล้อมสุขภาวะ ส่งเสริมการขับเคลื่อนชุมชนแบบมีส่วนร่วม


บ้านแฮดโมเดล


เทศบาลตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เป็นเทศบาลที่มีการบริหารจัดการตำบลแบบมีส่วนร่วม และยังส่งเสริมให้เป็นชุมชน สิ่งแวดล้อมสุขภาวะ ผ่านการดำเนินการใน รูปแบบหมู่บ้านจัดการตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น ที่เข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพและแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตชุมชนด้วยการสร้างการ มีส่วนร่วมของชาวบ้านชุมชนในท้องถิ่น เทศบาลตำบลบ้านแฮด มีพื้นที่  8.51 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศยกฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบลบ้านแฮด เมื่อวันที่  25  พฤษภาคม พ.ศ. 2542   เทศบาลตำบลบ้านแฮดประกอบด้วย 8 ชุมชน


แนวความคิดในการจัดการตนเองเทศบาลตำบลบ้านแฮด เกิดจากการมองเห็นว่าแม้ที่ผ่านมา ตำบลจะได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างต่างๆ สร้างความเจริญจากภาครัฐ แต่กลับสวนทางกับปัญหาทางสังคมที่ชุมชนยังประสบปัญหาอีกหลายด้าน ด้วยความต้องการแสวงหาวิทยาการใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนให้เกิดวิถีการพัฒนาแห่งความยั่งยืน เทศบาลบ้านแฮด จึงได้เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสมัครร่วมกับเครือข่ายกับองค์การบริหารส่วนตำบล ป่าโมง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี


สร้างขบวนการค้นหาตัวเอง


ในส่วนของการพัฒนา บ้านแฮดเริ่มจากการพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้ที่ดี เพื่อไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง นำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เทศบาลบ้านแฮดเริ่มต้นการทำวิจัยชุมชนเพื่อค้นหาทุนและศักยภาพท้องถิ่น  โดยนำข้อมูล 7 ด้านเบื้องต้น เพื่อวิเคราะห์ค้นหาสภาพพื้นฐาน ที่แท้จริงของชุมชนตนเอง ด้วยตนเอง และเพื่อรับทราบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในชุมชน


ทำให้พบว่าคนในชุมชนยังมีปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาหนี้สินในครัวเรือน การใช้สารเคมีในเกษตรกร ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงจนทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่เกื้อหนุนและไม่สนับสนุนในการพัฒนาหลายเรื่อง แต่โดยพื้นฐานของชุมชนมีความเข้มแข็ง อยู่แล้ว และมีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ถึง 35 กลุ่ม แต่สิ่งที่ชาวบ้านแฮดยังขาดคือ องค์ความรู้ตามหลักวิชาการและการสร้างความร่วมมือด้านเครือข่ายระหว่างกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ การมีสุขภาวะที่ดี และสวัสดิการ ที่ดี รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กเล็ก และผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ


ผลจากการศึกษา ได้นำมาสู่การต่อยอดและการดำเนินการ 4 เรื่องด้วยกัน คือ การกระจาย อำนาจ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การตั้งศูนย์ อปพร.หน่วยกู้ชีพ และยุทธศาสตร์การให้การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส นำไปสู่การ บ้านแฮดโมเดล เป็นบ้านแฮดโมเดล "ชุมชนดี สุขภาวะดี สิ่งแวดล้อมดี" นั่นคือ ชุมชนดี 7 ด้าน อยู่ใน สิ่งแวดล้อมดี และส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความสุข ดีทั้งกายและใจ


ส่งเสริมขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม


จากแนวคิดการดำเนินงานผ่าน 2 ยุทธศาสตร์ 3 ฐานคิด 2 หลักการ เทศบาลบ้านแฮด นำยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชน ก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งยังนำหลักการของแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและ สาราณียธรรม  6 ซึ่งเป็นหลักธรรมในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข มาเป็นกลไกที่สร้างความร่วมมือ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคฝ่ายในชุมชน นำไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการแบบ บูรณาการร่วมกัน 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรท้องที่ องค์กรภาคราชการ องค์กรประชาชน และองค์กรท้องถิ่น ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบาย 7+1 ได้แก่ การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน การจัดทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน การดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน การจัดการ ภัยพิภัยโดยชุมชนท้องถิ่น และการลงทุนด้านสุขภาพโดยชุมชน มาขยายสู่การสร้างงานในชุมชน


ผลจากการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมและใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่ แท้จริง นำมาสู่การดำเนินการต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ มีภูมิปัญญาถ่ายทอดสู่บุตรหลาน สมาชิกในชุมชนมีสุขภาพดี เกิดความรักสามัคคีมากขึ้น ในชุมชน ด้วยเกิดการพึ่งพาพึ่งพิง โดยได้ ความร่วมมือทุกช่วงวัยนำไปสู่การเป็นตำบลน่าอยู่


ก้าวสู่เป้าหมายหมู่บ้านจัดการตนเอง


ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด กล่าวถึงแนวทางที่นำมาเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาของบ้านแฮดว่า วิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแฮดเริ่มจากใช้เรื่องใกล้ตัว คือ การจัดการขยะ การแก้ปัญหาสุขภาพ และเกษตรกรรมยั่งยืน


แต่ก่อนชุมชนท้องถิ่นมองเห็นแต่การพัฒนาจากภายนอกคือภาครัฐบาล แต่มองข้ามคนในชุมชน เทศบาลจึงเปลี่ยนแนวคิดสู่การให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นการระเบิดจากข้างใน ซึ่งคนในชุมชนล้วนมีศักยภาพมาก เพียงแต่อาจจะขาดองค์ความรู้ ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ


อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้  "โครงการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่าง ครบวงจร" เป็นโครงการนำร่อง เทศบาลตำบลบ้านแฮด ใช้วิธีการจัดการขยะชุมชน เริ่มต้นจากเทศบาลทำด้วยตัวเองเป็นตัวอย่างก่อน แล้วค่อยแนวคิดสู่ชุมชนที่ใกล้เทศบาลที่สุด ก่อนที่จะขยายออกไปทั่วทุกชุมชนพื้นที่ในตำบล โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขให้เกิดการดำเนินการเป็นรูปธรรม ซึ่งผลจาก การดำเนินการ ทำให้หมู่บ้านจัดการตนเอง บ้านหนองไฮ หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องจัดการขยะ ได้รับรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยระดับ ดีเยี่ยม ภายใต้โครงการเมืองสวยใสไร้มลพิษ ประจำปี 2557 จากกรมควบคุมมลพิษ


ในด้านแนวคิดสุขภาพชุมชน เทศบาลบ้านแฮดได้พบว่าชาวชุมชนยังประสบปัญหาด้านโอกาสเข้าถึงสาธารณสุข จากการที่มีชาวบ้านในชุมชนต้องเดินทางไปหาหมอ ซึ่งอยู่คนละตำบลเป็นประจำทุกเดือน โดยต้องเสียค่าเดินทางครั้งละไม่น้อย ทำให้ไม่มีโอกาสในการรักษาอย่าง ต่อเนื่อง เทศบาลจึงตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขตำบลบ้านแฮดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยเรื้อรัง ด้อยโอกาสในชุมชนได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมระบบบริการใหม่ คือระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรังด้อยโอกาส โดยจัดรถพยาบาลนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแทนการให้ประชาชนไปเอง และยังต่อยอดมาสู่การบริการกู้ชีพผู้ป่วยเรื้อรังด้อยโอกาส


ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างบ้านแฮดโมเดล เสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงชุมชนบ้านแฮดว่าบ้านแฮดเน้นการทำแผนงานที่เป็นระบบ โดยจะใช้เครื่องมือหรือโอกาสที่มีจากหน่วยงานรัฐมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนให้มากที่สุด และยัง ก้าวข้ามไปถึงการเป็นชุมชนจัดการเอง โดยเทศบาลบ้านแฮดจะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนในชุมชนกับภาครัฐ


"นายกเทศบาลบ้านแฮดจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะผลักดันการบริการด้านสาธารณสุขในชุมชนเพื่อให้ประชาชนของเขามีสุขภาวะที่ดี โดยการยกศักยภาพในการให้บริการเพื่อประชาชนในพื้นที่ตนเอง เพื่อสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ง่ายขึ้น และยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะ และหลังจากนั้นเทศบาลจะเริ่มให้ชาวบ้านรู้จักวิธีการบริหารจัดการสาธารณะด้วย ตัวเอง โดยที่เทศบาลไม่ต้องเข้าไปลงมือเอง"


ถือเป็นแนวทางของสังคมที่เน้นมีการจัดการพึ่งบริการสาธารณะท้องถิ่นของหน่วยงานรัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเน้นการส่งเสริมและยกระดับให้บริการสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพ


     


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code