“บ้านแสนรักษ์” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

สสส. หนุนเกษตรอินทรีย์ ​สร้าง “บ้านแสนรักษ์” เพิ่มอัตราประชากรบริโภคผักผลไม้ ป้องกันโรคเรื้อรัง สร้างรายได้เกษตรกร 3 แสนบาทต่อสัปดาห์ นครปฐมนำร่อง พื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

“บ้านแสนรักษ์” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ thaihealth

ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางยุทธศาสตร์ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้และอาหารปลอดภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในงาน สานสัมพันธ์ ก้าวต่อไปของเกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์”ณ อาคารสามพรานภิรมย์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ว่า การบริโภคผักผลไม้ ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก แนะนำคือ วันละไม่ควรน้อยกว่า 400 กรัม ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังบริโภคไม่ได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการบริโภคผักผลไม้น้อย ถือเป็นสาเหตุของภาวะโรคอันดับต้นๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2558 – 2560 ให้ประชากรไทย หันมาบริโภคผัก ผลไม้ และสร้าง​ค่านิยมให้เกิด​การปลูกผักผลไม้ในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีและทำให้ประชาชนได้บริโภคผักที่ปลอดภัยมากขึ้น​

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า ​โครงการเกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์” ซึ่งมี จ.นครปฐม เป็นพื้นที่นำร่อง และ​ทำโครงการ “การจัดการแหล่งผลิตผักผลไม้สู่การบริโภคที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” เป็นปีที่ 2 เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร จากแหล่งผลิตสู่การสร้างตลาด โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมสนับสนุนรับซื้อทั้ง ภัตตาคาร เอ็ม เค สุกี้ ร้านสุขภาพเลมอนฟาร์มทุกสาขา ร้านบ้านผักปลายสวน ร้านรักษ์ธรรมชาติ และร้านสวนใจรัก ​ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้กว่า 300,000 บาทต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์” ถือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้ความรู้และสนับสนุนสมาชิก ตามพันธกิจหลักคือ 1.ชักจูงและขยายพื้นที่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ 2. ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ อุปกรณ์และปัจจัยการผลิต จนถึงการขอรับรองมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล 3.เชื่อมโยงช่องทางการตลาด สร้างกลไกราคาที่เป็นธรรม 4 รณรงค์การบริโภคผักผลไม้​ และ 5.สร้างความร่วมมือภาครัฐและท้องถิ่น เพื่อรองรับการขยายตลาดในอนาคต

“บ้านแสนรักษ์” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ thaihealth

“การ​เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ​จะเป็นประโยชน์ทั้งกับเกษตรกร และผู้บริโภค โดย​เกษตรกรในพื้นที่จ.นครปฐม ถือว่ามีความมั่นคง ทั้งด้านสุขภาพ และรายได้ ​ สำหรับเป้าหมายในอนาคต เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงผู้ประกอบการอาหาร ผู้แทนจำหน่ายผักผลไม้รายใหญ่ของประเทศให้หันมาใช้วัตถุดิบ และค้าขายผักผลไม้ที่ผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและแหล่งจำหน่ายให้กระจายไปทั่วถึง เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีในการขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ” ภก.สงกรานต์ กล่าว

​ด้าน นางจุฑามาศ อยู่สำราญ เกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ส่งให้กับภัตตาคารเอ็ม เคสุกี้ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์” จนถึงปัจจุบัน ช่วงต้นอาจต้องใช้เวลาปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรม ​และสิ่งที่เกษตรกรกังวลที่สุดคือ ช่องทางการจำหน่าย เพราะไม่มั่นใจกับตลาดที่จะมารองรับ แต่ผักอินทรีย์ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักป่วยเล้ง ผักขึ้นฉ่าย  ที่เข้าร่วมโครงการฯ ​มีการรับประกันราคา  ทำให้เกษตรกรมั่นใจ ที่จะเดินหน้าปลูกผักอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและเร่งขอรับรองมาตรฐานแปลงปลูกในระดับประเทศ และระดับสากล นับว่าเป็นการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ทั้งนี้ ​​​​เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจ ปลูกผักผลไม้อินทรีย์คุณภาพดีมีตลาดรองรับแบบมืออาชีพ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.baansanrak-organics.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณพิมพ์พนิต จันทร์โอทาน หัวหน้า เกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์” เบอร์โทรศัพท์/โทรสาร 034 321131 หรือ  081- 6265628 และ 081 6486307

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code