‘บ้านเหมืองหลวง’ ออมความดี แถมฟรี “ดอกเบี้ย”

ความดีที่ชาวบ้านช่วยกันสะสม

‘บ้านเหมืองหลวง’ ออมความดี แถมฟรี “ดอกเบี้ย”

 

          เรื่องราวความดีของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ไม่ต้องทำอะไรใหญ่โต ไม่ต้องมีเงินบริจาคล้นฟ้า ขอแค่แรงกายและแรงใจที่อยากจะ “ทำดี” ก็มีผลตอบแทนทันใจเกิดขึ้นแล้ว ที่บ้านเหมืองหลวง ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย พื้นที่เล็กๆ ซึ่งจุประชากรราว 600 คนเศษ จาก 193 ครัวเรือน อุ่นหนาไปด้วยความดีที่ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันสะสม ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการเก็บขยะ, ช่วยงานวัด, ทำบุญ, ร่วมกิจกรรมในหมู่บ้านไปจนถึงความดีที่ง่ายกว่านั้นอย่างเรื่องอาหารการกิน ใครทานข้าวกล้อง ก็เรียกว่าทำความดีแล้ว

 

          ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมคนในชุมชนถึงได้อยากจะทำดีกันนักนั้น ก็เพราะว่า ที่นี่เขามีแรงจูงใจพิเศษ คือ “ดอกเบี้ยความดี” ซึ่งแต่ละคนจะเก็บสะสมไว้ในธนาคารความดีเพื่อรอวันให้แต้มในสมุดบัญชีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นซึ่งทางธนาคารกำหนดไว้ตามอัตราที่เหมาะสมได้

 

          กิจกรรมดีๆ เช่นนี้เกิดขึ้นโดยไอเดียของคนวัยเกษียณอย่าง พ่อหนานพูลสวัสดิ์ ยศมูล ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน และยังเป็นประธานกลุ่มผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านเพื่อจัดกิจกรรมด้านคุณธรรม ส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตใจให้กับเด็ก เยาวชน และกลุ่มแม่บ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ก่อนที่จะขยายกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และภูมิปัญญาเพิ่มเข้ามาในอีก 5 ปีถัดมา

 

          จากนั้นในปี พ.ศ.2550 ทางกลุ่มก็ยังต่อยอดกิจกรรมโดยเน้นด้านคุณธรรม ส่งเสริมกิจกรรมครอบครัวอบอุ่น ศูนย์เรียนรู้คุณธรรม และชุมชนคุณธรรม โดยดำเนินการสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมๆ กันนี้ก็ได้ตั้งชื่อกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์ 3 วัย ใฝ่คุณธรรม” โดยพ่อหนานพูลสวัสดิ์ในฐานะหัวเรือใหญ่เป็นประธานกลุ่ม โดยทำกิจกรรมบนเป้าหมายเพื่อกระชับพื้นที่หัวใจระหว่างลูกหลานกับพ่ออุ้ยแม่อุ้ย ด้วยแนวคิด “อุ้ยสอนหลาน”

 

          วัยอย่างพ่ออุ้ยแม่อุ้ย จะให้ไปทำไร่ไถนาตากแดดตากฝนก็คงจะไม่ไหว แต่จะให้นั่งหง่อมเหงาอยู่ที่บ้านก็คงเฉาเข้าไปใหญ่ บรรดาปู่ย่าทั้งหลายเลยหันมารวมตัวกันทำกิจกรรมดีๆ มีความรู้ ส่งต่อไปยังลูกหลาน

 

          จนทุกวันนี้พ่อหนานคุยฟุ้งว่า “พ่ออุ้ยแม่อุ้ยกับลูกหลานคุยภาษาเดียวกัน คุยกันรู้เรื่องยิ่งกว่าพ่อแม่เสียอีก” นั่นเป็นเพราะว่าคนต่างวัยได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ขณะที่พ่อแม่ไปทำงาน เด็กๆ ก็จะอยู่กับปู่กับย่าจนกลายเป็นสนิทกันมากกว่าพ่อแม่ในที่สุดบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็วางไจที่รู้ว่าเด็กๆ อยู่ในสายตาพ่ออุ้ยแม่อุ้ยไม่ได้ไปเที่ยวซนให้คอยเป็นห่วง จึงต้องถือว่าโครงการนี้วิน-วินกันทั้งสามฝ่าย

 

          ความดี มีดอกผล

 

          และล่าสุดกับกิจกรรมใหม่ที่เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านยิ่งนักกับโครงการ “ธนาคารความดี” หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า โครงการธนาคารสุขภาพดีมีคุณธรรม ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2553 โดยได้จัดตั้งโครงการขึ้นบนแนวคิดที่ว่าสร้างเสริมสุขภาพเชิงคุณธรรม มุ่งพัฒนาจิตวิสัยของคนในชุมชน โดยใช้กระบวนการธนาคารมาเป็นเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนทำความดีหลากหลายด้าน

 

          “ธนาคารความดี ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ใช้แต่คะแนนความดีที่ทำมาและนำมาฝาก ซึ่งทำให้คนสนใจมากขึ้น เพราะจากเดิมที่ทำความดีโดยไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ความดีสามารถบันทึกลงในสมุดฝากความดี แล้วยังนำไปแลกสิ่งของได้ก็เลยทำให้มีคนสนใจกันมาก” พ่อหนานวัย 69 ปี อธิบาย

 

          สำหรับความดีแต่ละประเภทที่ทำนั้นก็จะมีคะแนนความดีกำกับไว้ หากมีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาหมู่บ้าน, งานบุญ, งานฉลองในเทศกาลรื่นเริงต่างๆ จนถึงงานศพ จะได้รับไปเลย 5 คะแนน และสำหรับการเสียสละแรงกายประเภทจิตอาสา หรือจะเป็นแรงทรัพย์บริจาคทำบุญสำหรับผู้ที่มีพอ ก็จะได้รับแต้มไปอย่างง่ายดาย 5 คะแนนเช่นเดียวกัน

 

          นอกจากนี้ยังมีแต้มความดีอีก 5 คะแนนมอบให้กับผู้ที่หมั่นปฏิบัติธรรม เช่นเดียวกันกับคนที่ตำข้าวกล้องกินเอง ปลูกผักกินเอง กินอาหารปลอดสาร ออกกำลังกาย และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมก็ได้รับคะแนนความดีสะสมไป 5 คะแนน

 

          และโบนัสพิเศษสุดๆ สำหรับใครที่ละเว้นการดื่มเหล้าเบียร์และเลิกบุหรี่หรือยาเสพติดได้ รับคะแนนไปเลยเท่าตัว คือ 10 คะแนน

 

          ส่วนเรื่องกฎกติกานั้น พ่อหลวงวาส ยศวิทยากุล ผู้จัดการธนาคารความดี ทั้งยังเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลป่าหุ่ง ด้วยนั้นเล่าว่า วิธีการฝาก-ถอนนั้นง่ายมาก เพียงแค่ว่าเมื่อสมาชิกทำความดีที่กำหนดไว้แล้ว ก็ให้มารับใบนำฝากเพื่อนำไปเขียนความดีลงไป จากนั้นไปตามล่าหาลายเซ็นผู้รับรองซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นๆ จำนวน 3 คน และนำไปยื่นที่ธนาคารซึ่งเปิดทำการในทุกวันเสาร์แรกของเดือน เพื่อสะสมคะแนนสำหรับใช้แลกข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น 10 คะแนนแลกได้แปรงสีฟัน สมุด ดินสอ ปากกา ไปจนถึงคะแนนมากๆ ก็จะแลกได้ของใหญ่ขึ้น เช่น พัดลม วิทยุ ซึ่งการจะแลกของได้นั้น สมาชิกจะต้องมีคะแนนความดีสะสมไว้ในบัญชีขั้นต่ำ 100 คะแนนจึงจะสามารถเบิกถอนดอกเบี้ยได้

 

          ส่วนที่มาของรางวัลเหล่านี้นั้น พ่อหลวงวาส บอกว่าได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุสงฆ์ ชาวบ้านที่มีฐานะดี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสาเหตุที่เลือกเอาข้าวของเครื่องใช้มาเป็นดอกเบี้ยก็เพื่อให้เป็นของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันจริงๆ

 

          โดยความง่ายซึ่งเป็นจุดขายนั้นส่งผลให้โครงการธนาคารความดีได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนในชุมชน โดยมีคนมาเปิดบัญชีแล้ว 343 ราย ใกล้จะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400 รายเต็มทีแล้ว

 

          ทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจให้คนอยากทำความดี โดยปรับทัศนคติเสียใหม่ว่าความดีทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทจนเหนื่อยยากหรือทุ่มเงินจนหมดตัวก็สามารถทำความดีได้แล้ว

 

          และนี่ก็คือกุศโลบายง่ายๆ จูงใจให้คนอยากทำดี

                                  

          ข่าวดีสำหรับ “คนดี” เพราะวันนี้ความดีที่ทำสามารถออกดอกออกผลทันใจ ไม่ต้องรอไกลไปถึงชาติหน้า

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

 

update: 25-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ