‘บ้านเตื่อมฝัน’ ศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้าน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'บ้านเตื่อมฝัน' ศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้าน thaihealth


พิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพ คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ หรือ "บ้าน เตื่อมฝัน" (เติมฝัน)


โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน นับเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคที่จะเป็นที่อยู่และ ที่พัฒนาศักยภาพในมิติต่างๆ ให้กับ คนไร้บ้าน เพื่อให้สามารถคืนกลับเข้าสู่การอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้บ้านเลขที่ 79/2


"บ้านเตื่อมฝัน" มีเนื้อที่ 330 ตารางวา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารจากรัฐบาล จำนวน 26.4 ล้านบาท ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2559 ที่ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้านใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ ที่มีจำนวนคนไร้บ้านรวมกันประมาณ 1,300 คน ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้รองรับ คนไร้บ้านได้ราว 80 คน ขณะที่ตัวเลขล่าสุดมีคนไร้บ้านในเชียงใหม่ ราว 75 คน แบ่งลักษณะที่อยู่เป็น 3 รูปแบบ คือ 1.ชั่วคราว วันละ 10 บาทเป็นห้องกว้างที่นอนรวม 2.ประจำ มี 10 ห้อง เป็นห้องที่มีม่านมู่ลี่กั้น เดือนละ 350 บาท และ 3.มั่นคง มี 6 ห้อง ผนังห้องก่ออิฐ ประตูไม้เดือนละ 450 บาท ปัจจุบันมีคนเข้าอยู่แล้ว 18 คน และจะทยอยเข้าอยู่อีก 25-30 คน อายุน้อยที่สุดราว 40 ปี มากที่สุด 82 ปี


สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อธิบายว่า ศูนย์แห่งนี้ ไม่ใช่ศูนย์สงเคราะห์ แต่จะเน้นพัฒนาศักยภาพให้ยืนอยู่ได้โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี สอดคล้องกับความต้องการของคนไร้บ้าน ที่อยากจะพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร รัฐบาลจึงสนับสนุนเพียงทุนในการก่อสร้างเท่านั้น ส่วนการบริหารจัดการศูนย์ในทุกๆ เรื่องรวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จะดำเนินการโดยเครือข่ายคนไร้บ้านเอง อยู่ร่วมกันภายใต้ กฎกติกาที่พวกเขากำหนดขึ้นเอง และพร้อมปฏิบัติด้วยความเต็มใจ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูภายในของเขาขึ้นมา ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเปิดศูนย์ฯ ได้มีการเช่าอาคารพาณิชย์ให้แต่ละคนทดลองอยู่ร่วมกันมาก่อนตั้งแต่ปี 2553


"ศูนย์นี้ไม่เพียงเป็นที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นสถานที่ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การอบรมอาชีพทั้งเกษตรกร การทำ เบเกอรี่ และการทำเฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ ด้วย โดยศูนย์จะให้หยิบยืมทุนและเครื่องมือต่างๆ เมื่อมีรายได้ก็นำเงินมาคืน เพื่อให้เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบตัวเอง โดยค่าเข้าพักแบบ รายเดือนที่เกินมา 50 บาท ศูนย์จะนำเก็บให้เป็นเงินออมของแต่ละคน เพื่อที่ในวันที่พร้อมและต้องการออกจากศูนย์แห่งนี้ จะมีเงินทุนติดตัวไปด้วย เพราะอยากเห็นพี่น้องคนไร้บ้านลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองจากที่หลุดจากครอบครัวและสังคม อาศัยอยู่ในที่สาธารณะนานๆ มาเพิ่มความเข้มแข็งและเห็นศักยภาพของตนเอง ให้สามารถเผชิญสังคม และยืนอยู่ได้ ที่นี่คือ ครอบครัวใหม่" สมพร กล่าว


สมพร บอกด้วยว่า ศูนย์แห่งนี้จะช่วยฟื้นฟูทั้งคนที่ออกจากบ้านมานานเกิน 1 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน หวังว่าเมื่อพวกเขาคิดจะออกจากบ้านจะนึกถึงและเข้าหาศูนย์นี้ก่อน สามารถช่วยให้คนที่หลุดออกจากสังคมกลับเข้าสังคมเร็วขึ้น ป้องกันการเป็นคนไร้บ้านระยะยาวที่จะกลับคืนสู่สังคมยาก เนื่องจากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะนานๆ อยู่แบบตัวคนเดียว เคยชินกับชีวิตอิสระของตนเอง หลายคนจึงอาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ส่วนผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นทำให้สังคมเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น และรัฐเห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหา สำหรับอนาคตจะต้องป้องกันไม่ให้คนหลุดออกมาเป็น คนไร้บ้านทั้งในส่วนของสภาพเศรษฐกิจและระบบครอบครัวที่ดี


นรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ อายุ 54 ปี ประธานเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ ซึ่งยินดีให้มีการเผยแพร่เรื่องราวชีวิต เล่าว่า พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจ ขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2545 โดยไม่เกี่ยวข้องกับพี่น้องอีก ช่วง 4-5 ปีแรกเข้าหาหน่วยงานรัฐในการสงเคราะห์ หลังจากนั้นออกมาใช้ชีวิตเองอาศัยอยู่แถวประตูท่าแพ มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะมาเดินเก็บของเก่าขาย รายได้พอให้อยู่รอดไปวันๆ ขณะที่ชีวิตค่อนข้างอันตราย บ่อยครั้งที่พี่น้อง ถูกขโมยเงิน


กระทั่ง ปี 2551 คิดว่าการอยู่คนเดียว แบบนี้ต่อไป อนาคตต้องไปไม่รอดแน่ถ้าไม่เข้าสังคม มองว่าเราต้องเข้าสังคม จึงจะนำพาตัวเองให้ก้าวหน้าในอนาคต ได้มีการก่อตั้งเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ หลังจากที่ลุงสุชิน เอี่ยมอินทร์ เครือข่ายคนไร้บ้านกรุงเทพฯ ขึ้นมาให้ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการรวมตัวเพื่อผลักดันให้เกิดที่อยู่ของคนไร้บ้าน ในรูปแบบการอยู่ที่บริหารจัดกันเอง โดยรัฐเพียงแค่ประสานงานในบางเรื่องเท่านั้น เพราะเราต้องการมีชีวิตเองและประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง จนสามารถของบจากรัฐมาก่อสร้างศูนย์นี้ได้


"ศูนย์นี้สวย น่าอยู่ เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องคนไร้บ้านเชียงใหม่ ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของพวกเรา หลังจากที่เคยคิดว่าไม่น่าจะมีในโลกนี้ที่รัฐจะเอาเงินมาซื้อที่ดินและค่าก่อสร้าง แต่ให้พวกเราบริหารจัดการกันเอง ที่นี่ จะเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของพี่น้อง คนไร้บ้าน ที่จะนำพาตัวเองให้ก้าวหน้าในอนาคต เพราะไม่เพียงเป็นที่อยู่ที่มีความปลอดภัยกว่าการอยู่ในที่สาธารณะ แต่จะช่วยพัฒนาเราในมิติอื่นๆ ด้วย เช่นผมที่หากไม่ได้เข้าร่วมเครือข่าย ไม่รู้ว่าตอนนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร หรือหน่วยงานรัฐจะนำไปไว้ที่ไหน แต่วันนี้ ผมกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น มากขึ้น" นรินทร์ กล่าว


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า คนไร้บ้านพึ่งพาตนเองได้ ยืนหยัดขึ้นได้ และกลับสู่สังคมได้ เชื่อในพลังมนุษย์ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี แม้คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการฟื้นฟูสุขภาวะให้สามารถตั้งหลักชีวิตด้วยตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ


โดย 5-6% มีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิกรรักษาพยาบาลภาครัฐ ทั้งที่มีอัตราความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาวะมากกว่าคนอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีดูแลให้สามารถกลับเข้ารับการรักษาให้ได้ ซึ่งต้องแก้ทั้งในส่วนสิทธิ ค่าเดินทาง และความกล้าในการเข้ารับบริการ


5 ศูนย์คนไร้บ้าน ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน พุทธมณฑลสาย 2 ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ ศูนย์ขอนแก่น (อยู่ระหว่างดำเนินการ) ศูนย์รังสิต (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ