บ้านหนองพังนาค หนุนเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
สังคมไทยเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 7.4 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 17.7 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าอนาคตอีกไม่ไกลสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
แฟ้มภาพ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ต่างเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมคนชราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างเช่นชุมชนบ้านหนองพังนาค ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีการปรับตัวโดยมีการรวมตัวของผู้สูงอายุในพื้นที่เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนการใช้ชีวิตในบั้นปลายและทำกิจกรรมร่วมกัน
ชุมชนบ้านหนองพังนาค ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 7 และหมู่ 13 ของ ต.เสือโฮก อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นชุมชนขนาดกลาง 300 กว่าหลังคาเรือน มีจำนวนประชากรราว 1,200 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไป สภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง แบบพออยู่พอกินและการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาและรับจ้างทั่วไป ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปตามสังคมตลอดเวลา ประกอบกับการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ไม่ได้สร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้มากนัก ทำให้ผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาคส่วนใหญ่ขาดรายได้ดำรงชีพเพราะไม่มีบำเหน็จบำนาญให้หยิบใช้ยามแก่เฒ่า
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในชุมชน จึงมีการจัดตั้ง ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค ขึ้นเมื่อปี 2544 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 100 คน โดย นางปิยนุช ปาปี เป็นประธานชมรม และต่อมาปี 2558-2559 ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชนดำเนิน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุในชุมชน และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นทุกๆ มิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจและปัญญา
นางปิยนุช ปาปี ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค เล่าว่า ผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอายุ 60 แล้วจะต้องเกษียณไม่ต้องทำงาน เพราะทุกคนทำงานมาตั้งแต่เด็กจนแก่ ไม่มีพัก ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงทำ แม้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาคจะไม่ได้ลำบากอะไร ดำเนินชีวิตไปอย่างเรียบง่าย พออยู่พอกินตามฐานะ แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะตามวิถีชีวิตของสังคมชนบทที่ยังอ่อนไหวต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่บ้าง
ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค จึงพยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหว เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคน ให้ผู้สูงอายุมีอะไรทำ ดีกว่าอยู่บ้านเหงาๆ จึงช่วยดูแลกันและกันพบปะพูดคุยกัน ได้ออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฟ้อนชี่กงประยุกต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม เช่น สานพัดไม้ไผ่ กระด้ง ไม้กวาดและถักกระเป๋าจากผักตบชวา เป็นต้น ซึ่งภาพที่ชินตาของคนที่เข้ามาในชุมชน คือ กลุ่มคนจับกลุ่ม 2-3 คนอยู่ใต้ต้นไม้ นั่งฟั่นเชือกผักตบชวาวันละเล็กวันละน้อยผสมกันไปเพื่อเอาไปขาย ช่วยสร้างรายได้เสริมแล้วยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เพราะเมื่อผู้สูงอายุมาอยู่มารวมกลุ่มกัน เกิดการพูดคุย ยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน ทำให้ทุกคนมีความสุขตามไปด้วย
ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค ยังเล่าอีกว่า การลดรายจ่ายในครัวเรือนเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ชมรมจึงส่งเสริมการปลูกพืชผักสมุนไพรไว้ในครัวเรือน เวลาจะกินจะใช้ก็ไม่ต้องไปซื้อหาให้เปลืองเงินและแลกเปลี่ยนกันเอาไปกินไปใช้ ไม่ต้องซื้ออย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่ายไปได้บ้าง เพราะคนแก่คงไม่หวังร่ำรวยอะไรอีก เพียงต้องการทำให้ชีวิตมีความสุข ยิ้มแย้ม ตื่นเช้าได้ออกกำลังกาย พูดคุยกับเพื่อนๆ สุขกายสบายใจก็พอแล้ว
และกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งของผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค คือกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ที่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุจะนัดกันออกเยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งในชุมชนมีอยู่ประมาณ 10 คน จะซื้อของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากและนั่งพูดคุย ทำให้ผู้สูงอายุดังกล่าวไม่เหงาและไม่รู้สึกว่าเพื่อนทอดทิ้ง นอกจากนี้ทุกวันที่ 10 ของเดือนจะมีประชุมประจำเดือนจะมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้นและคัดกรองโรคให้ผู้สูงอายุได้รับทราบสุขภาพของตัวเอง
ขณะเดียวกันเรื่องปากท้องของวิถีชีวิตคนชนบทเป็นเรื่องสำคัญที่ควบคู่กันมาคือ เงินกู้นอกระบบ ซึ่งที่บ้านหนองพังนาคก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ซึ่งชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาคก็เข้าไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ โดยจัดตั้ง "กลุ่มเงินออมเพื่อแม่" ขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนและนำรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของชมรมและเป็นสวัสดิการให้เพื่อนสมาชิก
เรื่องนี้ นายเดช รัชฎาวงศ์ เหรัญญิกชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาค บอกว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อแม่ แม้ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 380 ราย ซึ่งสมาชิกของชมรมผู้สูงอายุเข้าร่วมทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการออมเงินใช้ยามแก่เฒ่าหรือยามจำเป็น เพราะปัญหาหลักของผู้สูงอายุคือความยากจนและโรคภัย พร้อมกันนี้ยังปล่อยกู้ให้คนในชุมชนนำไปประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตในอัตราดอกเบี้ยราคาถูกร้อยละ 1 บาท และสิ้นปีจะมีการปันผลให้สมาชิกที่ร่วมกันออมทรัพย์ร้อยละ 3.5 ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้ใช้ในการบริหารและทำกิจกรรมและสวัสดิการ ปัจจุบันกองทุนมีเงินฝากรวม 1.5 ล้านบาท
"เราไม่ได้ชวนให้คนรวยมาฝากเพื่อหวังผลกำไร เราหวังให้เงินกองทุนนี้ช่วยเหลือคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในบั้นปลาย" นายเดช กล่าว
กิจกรรมต่างๆ ของชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองพังนาคล้วนสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน ผู้สูงอายุต่างพึงพอใจกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น มีโอกาสรวมกลุ่มนั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ หากิจกรรมอะไรมาทำด้วยกันอยู่ตลอด บางครั้งเราก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่ไม่สบายติดเตียงอยู่ที่บ้านเพื่อให้กำลังใจกัน
ขณะที่ นายประยูร อองกุลนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ เป็นกุศโลบายที่ให้ผู้สูงอายุเกิดการรวมกลุ่มต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วมได้ง่ายซึ่งหากมองลึกลงไปจะพบว่ากิจกรรมต่างๆ สะท้อนถึงสุขภาพจิตเพราะผู้สูงอายุมีความสุข มองเห็นศักยภาพในตัวเอง สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ เช่น สานพัด ทำดอกไม้จันทน์ ศิลปะการแสดง การออกกำลังกายและการละเล่นต่างๆ
"ในอนาคตประเด็นที่ต้องเสริมเข้าไปคือพัฒนารูปแบบกระบวนการของการดูแลผู้สูงอายุ และการต่อยอดกระบวนการเช่น กิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ แทนที่เราจะเข้าไปเยี่ยมและมอบของให้ ซึ่งผู้รับจะไม่เกิดความภาคภูมิใจ แต่ถ้าเรานำเด็กๆ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุด้วยก็จะเป็นการเรียนรู้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ของผู้สูงอายุไปในตัว จุดเริ่มต้นนี้อาจจะต่อยอดให้เกิดเป็นสื่อท้องถิ่น มีการสร้างจิตอาสาสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมาได้" นายประยูร กล่าว
ดังเช่นที่บ้านหนองพังนาคแห่งนี้ หากมองดูผิวเผินกิจกรรมอย่างการออกกำลังกาย การสร้างอาชีพเสริม การสนับสนุนปลูกพืช ผักสมุนไพรในครัวเรือน หรือจะเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแม่ อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่หากมองกันที่วิธีการดำเนินงานและผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือคนแก่มีความสุข ยิ้มได้ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกาย ใจ และปัญญา เพียงเท่านี้ก็น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของคนทำงานแล้ว