บ้านสันต้นแหน จ.เชียงใหม่ รวมใจรับมือโควิด-19

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


บ้านสันต้นแหน จ.เชียงใหม่ รวมใจรับมือโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


บ้านสันต้นแหน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กับช่วงเวลาที่เดินฝ่า ทั้งโควิดและฝุ่นควัน PM2.5 ทำให้ชุมชนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยช่วยกันเย็บผ้าหน้ากากผ้า สอดแทรกความรู้เรื่องการเว้นระยะห่าง และการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการปั่นจักรยาน


“ช่วงนี้เราจะช่วยกันเย็บผ้าทำหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ก็ยังมีการสอดแทรกความรู้ เรื่องการเว้นระยะห่างและก็ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา และมี อสม.เดินแจกหน้ากากอนามัยตามบ้าน และในช่วงที่ผ่านมาเราก็มีการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย โดยเฉพาะการปั่นจักรยานในตอนเช้าและการมาเต้นแอโรบิกในตอนเย็น แต่ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยได้ทำเนื่องจากฝุ่นที่เชียงใหม่เยอะมาก ซึ่งช่วงนี้เราจะประสบปัญหาทั้งเรื่องโควิดและปัญหาฝุ่นควัน” จันเพ็ญ ไชยเทพ ชาวบ้านสันต้นแหน ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


เล่าบรรยากาศในหมู่บ้านให้ฟังในช่วงวิกฤติโควิด เกี่ยวกับการรับมือในสถานการณ์ช่วงนี้ ซึ่งแค่เรื่องโควิดยังว่าหนักแล้ว แต่กับปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนที่นี่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้เป็น 2 เท่า


บ้านสันต้นแหน เป็นชุมชนชนบทที่มีอาชีพหลักคือ การทำเกษตรกรรม และที่สำคัญที่นี่ถือเป็นจุดกำเนิดของการทำร่ม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะคุ้นชินในนามร่มบ่อสร้างที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็ตามแม้จะมีอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่สำหรับเรื่องสุขภาพ ชาวบ้านที่นี่ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านจึงได้เล็งเห็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของชาวบ้าน และได้เข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ในเขตภาคเหนือ


โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก6) เป็นหน่วยสนับสนุนวิชาการร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บ้านสันต้นแหน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้ชาวบ้านมีอะไรดีๆ ทำร่วมกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปีนี้ที่ชุมชนให้ความสำคัญเรื่องการทำกิจกรรมทางกาย โดยมีกิจกรรมการปั่นจักรยานเป็นกิจกรรมไฮไลท์ ที่ผู้นำชวนลูกบ้านออกมาปั่นร่วมกัน


“เราจะปั่นทุกวันอาทิตย์ ถือว่าเป็นวันครอบครัว โดยการปั่นเป็นครอบครัว เราเน้นการเชื่อมสัมพันธ์เพื่อให้ครอบครัวและสมาชิกชุมชนมีกิจกรรมร่วมกัน และจักรยานก็เป็นจักรยานธรรมดา การปั่นของพวกเราเหมือนเป็นการสังสรรค์ เราจะชวนกันไปเป็นกลุ่ม” สุภชัย ไชยเทพ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน เล่ากิจกรรมย้อนหลังให้ฟังว่า


ที่ผ่านมามีการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพของชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะการปั่นจักรยานเท่านั้น หากแต่มีกิจกรรมอื่นๆ ที่เน้นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี และที่สำคัญนี่ถือเป็นงานเพื่อสร้างชุมชนให้พวกเขาน่าอยู่ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคในชุมชน รักษาความสะอาดครัวเรือนและหมู่บ้าน ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อสร้างให้ชุมชนพวกเขาน่าอยู่


และสิ่งที่ควรเล่าให้ฟังอีกอย่างหนึ่งคือ บ้านสันต้นแหน ที่นำโดยผู้นำชุมชนและแกนนำอาสาสมัครหมู่บ้าน ทุกคนได้ร่วมกันก่อตั้งสภาหมู่บ้านที่เรียกว่า “สภาผู้นำชุมชน” เพื่อเป็นสภาคนดี คนเก่งและคนที่มีจิตอาสาให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นสภาชาวบ้านที่ทำงานเพื่อจัดการชุมชนในทุกมิติ ทั้งประเด็นร้อนและประเด็นเย็น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ การจัดการระบบกายภาพชุมชน และประเด็นเรื่องปากท้อง ดังนั้น พอเกิดวิกฤติเช่นนี้สภาที่ว่านี้ก็ต้องลุกขึ้นมาทำงาน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่


“ช่วงนี้ตามที่มีข่าวรณรงค์ห้ามเกาะกลุ่มกัน เราอาจจะทำงานยากนิดหน่อยเวลาเราประชุมเรา ก็ต้องนั่งห่างกันอย่างน้อยเมตรกว่าๆ และต้องใส่หน้ากากในการประชุม และเราได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกับเทศบาลตำบลแม่คือและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งช่วงนี้สภาผู้นำชุมชนเราจะเน้นการกำกับชาวบ้าน หัดทำหน้ากากอนามัยใช้เอง และเน้นให้ชาวบ้านใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากนี้จะใช้ทั้งป้องกันไวรัสโควิดและป้องกันฝุ่นควัน แม้ว่าจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ถือว่าป้องกันได้ในระดับเบื้องต้น


และโชคดีที่เรามีสมาชิกสภาผู้นำชุมชน เข้าไปทำงานให้ความรู้กับชาวบ้าน ซึ่งเรามีทีมสภาผู้นำชุมชนเข้าไปช่วยดูแลและกำกับ เช่น ถ้ามีงานศพพวกเราก็เข้าไปคุมเรื่องการจัดสถานที่ การใส่หน้ากากและรวมถึงกรณีที่มีคนมาจากต่างจังหวัดเราก็จะดูแลและให้ความรู้เรื่องการกักตัวเอง และให้มารายงานตัวอย่างเร่งด่วน” ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงแนวทางการทำงานในช่วงนี้ ซึ่งสภาผู้นำชุมชนถือว่ามีบทบาทมากในหมู่บ้านที่ถือเป็นกองทัพแนวหน้าในชุมชน เพื่อสกัดปัญหาที่กำลังเผชิญในช่วงนี้


ในวิกฤติช่วงนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับทั้งปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่บางวันตัวเลขพุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก และพอมาเผชิญกับโควิด-19 ก็ยิ่งถือเป็นเรื่องท้าทาย ที่คนในชุมชนต้องฝ่าวิกฤตินี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการสุขภาพ ในช่วงที่ผ่านมาโดยตลอด ผู้นำและชาวบ้านทุกคนก็น่าจะมีทางออก และสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ