บ้านพอเพียง ที่สิงห์บุรี

ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ผักสวนครัว โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประชารัฐ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


บ้านพอเพียง ที่สิงห์บุรี thaihealth


เกษตรกรแห่งบ้านบางเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิต


ชีวิตของเกษตรกรผู้หนึ่งเริ่มต้น เพราะวิกฤติน้ำท่วมเมื่อปี 2538 เวลานั้นนับเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ตำบลท่างาม ประกอบกับอาชีพรับจ้างที่ทำอยู่ก็ถูกโกง สูญเงินและเสียกำลังใจ เมื่อน้ำเริ่มลดระดับเห็นพื้นดินโล่งโถงจึงเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในชีวิตของ ณรงค์ วิมา เกษตรกรแห่งบ้านบางเล็ก หมู่ที่ 4 แห่งนี้


เมื่อน้ำลดจนเห็นผืนดินโล่งชุ่มณรงค์จึงหันมาปลูกผักสวนครัว เริ่มที่ชะอมซึ่งเวลานั้นให้ราคาดี จึงกลายเป็นทั้งแหล่งอาหารและรายได้ให้กับครอบครัววิมา ปีถัดมาเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้ง ณรงค์ยังคงยึดชะอมเป็นพืชหลักที่ปลูกหลังน้ำลด โดยปลูกมากกว่าเดิม ไปขายที่ตลาดอินทร์บุรีผลลัพธ์ยังคงน่าพอใจ ทว่าใน 2 ปีถัดมา น้ำยังท่วมต่อเนื่องอีก กับทั้งการปลูกชะอมเริ่มมีปัญหาด้วยมีคนปลูกกันมากทำให้ไปตัดราคากันที่ตลาด ณรงค์จึงเริ่มที่จะปลูกผักอื่นๆ อาทิ ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง และผักคะน้าผสมด้วย


หลังประสบปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่องกันหลายปี ณรงค์เริ่มปรับตัวได้ เกิดความชำนาญ เขาเล่าว่าระหว่างที่น้ำท่วมจะนำเรือออกจับปลา ซึ่งโดนกระแสน้ำพามาจากหลายที่ถือเป็นรายได้อย่างดี เมื่อน้ำเริ่มทรงตัวจึงเพาะกล้าผักบนถาดลอย (โฟม) แล้วผูกติดไว้ตามต้นไม้ เมื่อน้ำลดผักเหล่านี้ก็เติบโตจึงนำลงดิน ใช้เวลาไม่นานก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้สอดรับกับตลาดที่ยังคงขาดแคลนผักอันเนื่องมาจากน้ำท่วม


“ผมเริ่มปรับตัวเข้ากับปัญหา เรียนรู้ไป ผักที่ปลูกก็เน้นผักที่ตัวเองกินก่อน เหลือจึงขาย หลังน้ำลดทุกครั้งผมจะปลูกพืชโตเร็วและอยู่กับดินโคลนได้ดี ผักบุ้ง 15 วันก็ตัดขายได้ ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า อย่างละ 1 เดือน พอดินเริ่มหมาดก็นำชะอมที่เพาะไว้มาลงตามร่องชะอมเอาดอกดาวเรืองมาผสม เวลารดน้ำชะอม ดาวเรืองก็ได้นำไปด้วย ความที่พื้นที่ของผมเป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ก็ต้องจัดระเบียบพื้นที่หมุนเวียนพืชกันไป เพื่อรักษาธาตุอาหารในดิน”


กาลต่อมา ณรงค์มีความต้องการที่จะทำปุ๋ยหมักใช้เองในครัวเรือน จึงสมัครเข้าโครงการหมอดินอาสา เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้มาทำใช้ในครัวเรือน ได้สูตรปุ๋ยหมักกองแห้ง ปุ๋ยหมักน้ำ รวมถึงปุ๋ยรักษาโรคเชื้อรา นับเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน


นอกจากปลูกผักไว้กินในครัวเรือน แล้วนำออกขายส่วนหนึ่งแล้ว ณรงค์ยังทำพันธุ์ผักจำหน่าย อาทิ กิ่งพันธุ์มะนาว กล้าชมจันทร์ เป็นต้น เท่านั้นยังไม่พอ ณรงค์และคู่ชีวิตยังทำน้ำยาล้างจานใช้เองในครัวเรือน เลี้ยงไก่ มีทำเตาเผาถ่านจากอิฐทนไฟ เพื่อทำถ่ายผลไม้แล้วยังมีน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้ฆ่าเชื้อราในดิน


“ตำบลท่างามนับว่าเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดขึ้นจนคุ้นชิน ผมบอกกับตัวเองเลยว่าถ้าน้ำท่วมก็เริ่มใหม่ แต่เริ่มใหม่ต้องดีขึ้น เพราะผมเริ่มมีประสบการณ์ เริ่มมีการเตรียมความพร้อมทุกอย่าง เพื่อให้ผมและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตอยู่กับน้ำได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”


ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ณรงค์ได้รับรางวัลที่ 3 ของประเทศในปี 2555 จากการร่วมส่งผลงานประกวดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ประเภทชุมชนทั่วไป สาขาผู้ดำเนินโครงงานพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน โครงการประกวดผลงานพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน จากคณะกรรมาธิการการพลังงานวุฒิสภา ประจำปี 2556 และล่าสุดในปี 2557 นี้ ณรงค์ยังได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำจังหวัดสิงห์บุรี สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี


เวลานี้ ณรงค์ยังได้พัฒนาบ้านของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างเครือข่าย โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก (Narong Ta-ngam Wima) ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันพันธุ์พืชและให้ความช่วยเหลือเรื่องการทำการเกษตร และดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ที่สนใจ

Shares:
QR Code :
QR Code