‘บ้านบางควาย’ตัวอย่างที่ดีเกษตรผสมผสาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
"สสส." หนุนหมู่บ้านตัวอย่างที่ "บ้านบางควาย" จ.สุโขทัย หันมาทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ แทนการปลูกยาสูบ ทำให้มีสุขภาพดี รายได้พอเพียง มีความสุขตามวิถีชีวิตเกษตรกร
ที่หมู่บ้านบางควาย หมู่ที่ 2 ต.ปากแคว อ.เมือง จังหวัดสุโขทัย มีการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้แบบพอเพียง มีความสุข ทั้งยังมีสุขภาพดี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกยาสูบ และพบว่าตัวเองมีสุขภาพย่ำแย่จากสารตกค้างที่มากับสารเคมีที่ใช้ปลูกยาสูบ
นายบุญเพ็ง ขวัญวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านบางควาย เปิดเผยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่มีอาชีพเพาะปลูกยาสูบมานับแต่บรรพบุรุษ ต่อมามีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ได้ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบการปลูกยาสูบพบว่า ในดินมีสารตกค้างมากมาย จากนั้นหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ก็มาตรวจสุขภาพชาวบ้าน จนทราบว่า สุขภาพของชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปลูกยาสูบถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จึงมาคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้สุขภาพชาวบ้านดีขึ้นและปรับเปลี่ยน ลด ละ เลิก การปลูกยาสูบ มาเป็นพืชชนิดอื่นๆ หรือเลี้ยงสัตว์ทางการเกษตรที่สร้างรายได้แบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
“จึงรวบรวมชาวบ้านที่สนใจได้ประมาณ 27 ราย มาทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวถนัดของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะทำการลดพื้นที่เพาะปลูกยาสูบ หันมาขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ บางรายเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองและปลูกพืชทนแล้ง หมุนเวียนกันไป เช่น ชะอม, ข้าวโพด, ดอกขจร ฯลฯ บางรายลดพื้นที่ปลูกยาสูบจาก 16 ไร่ เหลือเพียง 5 ไร่ อีก 11 ไร่ มาขุดบ่อเลี้ยงปลา, กบ และปลูกข้าวโพด มีอยู่รายหนึ่ง จากพื้นที่ปลูกยาสูบจำนวน 9 ไร่ ก็เลิกปลูกไป หันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาแถมทำกระชังเลี้ยงกบอีกด้วย”ผู้ใหญ่บุญเพ็งกล่าว
ผู้ใหญ่บุญเพ็ง กล่าวต่อว่า สิ่งต่างๆ ที่แนะนำชาวบ้านนั้น ก็มาจากการที่ตนได้รับโอกาสจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ประสานทำโครงการขอความช่วยเหลือและได้รับโอกาสไปอบรมศึกษาดูงานในหลายๆ พื้นที่หลายๆ รูปแบบ ที่เกษตรกรประสบความสำเร็จ จึงนำมาประยุกต์ปรับใช้ในหมู่บ้านตนเอง สำหรับรายได้ของชาวบ้านที่ปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกยาสูบ หันมาทำการเกษตรแบบพอเพียงนั้น ทุกคนกล่าวว่า พอใจกับรายได้ที่ได้รับ แม้จะไม่ได้รับเป็นเงินก้อนในแต่ละปีแบบยาสูบที่ปลูกตามฤดูกาล แต่มีรายได้ทุกวันเข้าบ้าน เห็นเงินทุกวัน พอกินพอใช้ เหลือเงินเก็บบ้างและที่สำคัญ สุขภาพดี ร่างกายดี นับได้ว่าพอใจในสิ่งที่ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
ขณะที่นายเจนจบ นาคสอน วัย 37 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าว เปิดเผยว่า พอใจกับรายได้ที่ได้รับเพราะมีรายได้ทุกวันจากการทำการเกษตรแบบผสมผสานพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แม้จะไม่ได้รับเป็นเงินก้อนแบบปลูกยาสูบในแต่ละปี แต่ก็ได้รับเงินมีรายได้ทุกวันจากการปลูกพืชหมุนเวียน ตนเองปรับเปลี่ยนจากการปลูกยาสูบในที่นาจำนวน 16 ไร่ เหลือเพียง 5 ไร่ อีก 11 ไร่นั้นนำมาปลูกข้าวโพด, เลี้ยงไก่ และขุดบ่อเลี้ยงปลา รวมทั้งปลูกพืชผักอีกหลายชนิดด้วย ทั้งต้นกล้วย, ชะอม ฯลฯ เก็บขายได้ทุกวัน ที่สำคัญไม่เหนื่อยเหมือนการทำยาสูบสุขภาพดีขึ้นมีความสุขมากขึ้น