บ้านน้ำคำ”สร้างสุขด้วยนิทานสองวัย”

“หญิงสาววัยกลางคน ส่งภาษามือให้ลูกน้อย พร้อมกับกางหนังสือที่มีรูปภาพสวยงาม ออกมาอ่านพร้อมกันกับลูกรัก ไม่มีเสียงพูดออกจากปากของหญิงสาววัยกลางคนรายนี้ หากแต่เสียงที่เปล่งออกจากปากลูกของเธอนั้น เป็นเสียงที่เธอไม่ได้ยินด้วยหู แต่ใจเธอรับรู้และสัมผัสได้รอยยิ้มที่แสดงออกทางสีหน้าของเธอเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ที่เปล่งประกายประดับครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้”

กรณีของครอบครัวที่ทั้งคุณแม่และคุณพ่อต่างก็เป็นใบ้ แต่สามารถสอนให้ลูกอ่านหนังสือได้ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนบ้านรอบข้างที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ เกิดขึ้นที่ตำบลน้ำคำ จังหวัดยโสธร โดยหยิบยกเป็นกรณีตัวอย่างของพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นกับผู้คนในชุมชน ภายในเวทีประชุมสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านชุมชนท้องถิ่นกับงานส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาสมองและพัฒนาการเด็กปฐมวัย จัดโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้

นอกจากกรณีของครอบครัวหญิงสาวผู้ที่เป็นใบ้แต่สามารถสอนให้ลูกอ่านหนังสือจนเด็กๆ กลายเป็นเด็กที่ฉลาดและเรียนหนังสือเก่งที่สุดในห้องได้แล้ว ยังมีกรณีของครอบครัวที่คุณแม่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่พยายามอ่านหนังสือให้ลูกคนเล็กฟัง จนส่งผลให้ลูกฉลาดขึ้นอีกด้วย

พนมวัน คาดพันโน ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เล่าถึงการขับเคลื่อนเรื่องตำบลรักการอ่านในตำบลน้ำคำ จังหวัดยโสธรว่า เริ่มแรกได้ทำงานวิจัยเรื่อง “ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” เมื่อเริ่มโครงการเราก็เริ่มเวียนหนังสือให้แต่ละบ้านแบ่งปันการอ่านบ้านละ 2 เล่มก่อนในเบื้องต้น ผลลัพธ์คือเด็กๆ ติดหนังสืองอมแงม และหนังสือที่เด็กๆ ชอบอ่านมากที่สุดคือหนัง สือเล่มแรกที่ได้อ่าน ทำให้เราพบว่าไม่ต้องซื้อหนังสือมาเก็บไว้มากก็ได้หากยังมีงบประมาณที่จำกัดเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังนี้ เป็นเด็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ จำนวน 92 คน เด็กอายุ 3-6 ขวบอีก 288 คน จากศูนย์เด็กเล็ก 6 แห่ง ในพื้นที่ โดยทีมงานจัดหาหนังสือมาให้ผู้ปกครองอ่านให้เด็กๆ ฟังทุกวัน

เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 เดือนก็ลงไปติดตามผล พบว่าพลังแห่งการอ่านเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด-3 ขวบ ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 92 คน รวมทั้งเด็ก 3-5 ขวบในศูนย์จำนวนหนึ่ง โดยเด็กๆ มีพัฒนาการดีขึ้นในทุกๆ ด้าน หลังจากงานวิจัยในเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว จึงเกิดหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโครงการตามหานิทานพื้นบ้าน

“เราให้ผู้สูงอายุมาเล่านิทานให้เด็กๆ ในศูนย์เด็กเล็กฟัง นอกจากคุณตาคุณยายจะมาเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังแล้ว เด็กๆ เองก็ต้องเดินทางออกไปตามหานิทานกับคุณตาคุณยายด้วย เด็กๆ ต่างฟังนิทานอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมจดบันทึกนิทานต่างๆ เหล่านั้นกลับมาด้วย เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย เด็กๆ ได้นิทานมากว่าร้อยเรื่องทำให้ทั้งคนเฒ่าคนแก่และเด็กๆ มีความสุขมาก” พนมวันกล่าว

สิ่งที่การันตีความสำเร็จด้านการอ่านให้กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ คือการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นและชุมชน เห็นถึงความสำคัญอันใหญ่ยิ่งของการอ่าน จังหวัดยโสธรได้ประกาศตัวเป็นเมืองแห่งการอ่าน ที่เมืองแห่งนี้ยังมีครอบครัวต้นแบบกว่า 50 ครอบครัวที่คอยส่งเสริมการอ่านให้กับลูกหลานอยู่ไม่ขาดสาย

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code