“บ้านต้นผึ้ง”ลำพูน สุขภาพที่ยั่งยืน

สิ่งดีที่ สสส.สนับสนุน

 

“บ้านต้นผึ้ง”ลำพูน  สุขภาพที่ยั่งยืน

          หมู่บ้านต้นผึ้ง หมู่ 2 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน เป็น 1 ใน 20 หมู่บ้านที่ได้รับรางวัล “หมู่บ้านร่วมสร้างพอเพียงเพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน” ตามโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพ ตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักเปิดรับทั่วไป และนวัต กรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ชุมชนรอบข้างยกให้เป็นแบบอย่างอีกด้วย

 

          นางกรรจนา จันทรเสนา รองประธานสภาเทศบาล ต.หนองล่อง ในฐานะเลขาธิการโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพฯ เล่าว่า ก่อนที่หมู่บ้านจะเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เป็นเพราะพวกเรามีความรัก ความสามัคคี หวงแหนในสิ่งที่พวกเราได้ร่วมทำร่วมสร้างกันมา และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คิดว่าหมู่บ้านอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

          โดยก่อนที่หมู่บ้านจะร่วมโครงการสสส. นั้น เกิดจากในหมู่บ้านเริ่มมีปัญหาด้านสิ่งแวด ล้อม โดยเฉพาะขยะตามริมแม่น้ำลี้ ที่ชาวบ้านมักจะทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ประกอบกับในหมู่ บ้านก็มีกิจกรรมพวกงานบุญต่างๆ มากมาย เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช งานศพ

 

          งานเหล่านี้มักมีการจัดเลี้ยง ต้องใช้อุปกรณ์ครัวเรือน พวกถ้วยชามจานใส่อาหารจำนวนมาก ทุกครั้งเมื่อเสร็จงาน มักจะนำมาล้างที่แม่น้ำลี้ บางคนทิ้งเศษอาหารลงแม่น้ำ บางคนสาดลงริมตลิ่ง ทำให้ส่งกลิ่นเน่าเหม็น น้ำเริ่มเน่าเสีย แม้แต่พวกสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา หรือพืชน้ำ เริ่มหายไป

 

          ก่อนจะเข้าโครงการเมื่อปลายปีพ.ศ. 2549 หมู่บ้านพัฒนาไปอย่างไม่เป็นระบบ แม้จะมีโครงการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปั๊มน้ำมันประจำหมู่บ้าน ที่มีสมาชิกหมู่บ้านเป็นหุ้นส่วน แต่ชาวบ้านขาดความรู้การจัดการที่ดี กระทั่งคณะกรรมการหมู่บ้านเข้าโครงการสสส. ทำให้ระบบการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ

 

          เนื่องจากมีนักวิชาการมาคอยให้ความรู้เป็นพี่เลี้ยงคอยสอนจนตอนนี้รู้สึกภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในหมู่ บ้านเริ่มดีขึ้น เพราะทุกซอยของหมู่บ้านจะมีถังซีเมนต์ใส่ขยะแบบศูนย์รวม ขยะเหล่านี้ยังสามารถนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยหมัก โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านจะคอยดูแลรับผิดชอบแต่ละจุด และจะนำน้ำยาจุลินทรีย์อีเอ็ม เพื่อย่อยสลายขยะให้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น

 

          เรียกว่ามีขยะเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม และชาวบ้านยังนำปุ๋ยไปใส่สวนลำไย อาชีพหลักของหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย

 

          กรรจนาบอกว่า สิ่งที่ในหมู่บ้านภาคภูมิใจมาก คือ อ่างล้างจานประจำหมู่บ้าน นอกจากทำให้แม่น้ำลี้เริ่มดีขึ้น ชาวบ้านที่ไปร่วมงานบุญ หรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะรู้สึกสนุกสนาน และมีความรักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น เพราะทุกคนจะมาร่วมกันล้างที่อ่างล้างจานแห่งนี้

 

          ลักษณะของอ่างล้างจาน จะมีที่ปั๊มน้ำบาดาล โดยส่งมาตามท่อจนถึงตัวอ่างล้างจานร่วม ที่แบ่งตัวกันน้ำไว้ 3 ช่อง พื้นนี้จะลาดเอียง โดยอ่างที่อยู่ล่างสุด จะเป็นอ่างล้างเศษอาหารออกก่อน โดยมีตะแกรงอยู่ด้านล่างรองรับเศษอาหาร จากนั้นก็นำพวกจาน ถ้วย ชาม แก้วต่างๆ ไปล้างข้างล่างกับพื้นทั้ง 2 ฝั่ง

 

          ส่วนอ่างที่ 2 เป็นอ่างที่ชาวบ้านจะช่วยกันคนละไม้ละมือล้างน้ำสะอาด ซึ่งเป็นน้ำแรก และอ่างที่ 3 อ่างสุดท้าย และเป็นจุดปล่อยน้ำดีให้พุ่งขึ้นมาเหมือนน้ำพุ ชาวบ้านจะนำถ้วยชามจากอ่างที่ 2 มาล้างสะอาดใส่ภาชนะที่เตรียมไว้นำขึ้นรถกลับไปส่งตามที่ต่างๆ

 

          นอกจากนี้ หมู่บ้านใกล้เคียงก็สามารถนำพวกจานชามอุปกรณ์ครัวที่จัดกิจกรรมต่างๆ มาล้างได้ด้วย โดยจะคิดค่าบริการครั้งละ 50 บาท ก่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง

 

          ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ในหมู่บ้านก็ห่างไกลยาเสพติด เพราะหันมาให้ความสำคัญการเล่นดนตรีพื้นเมืองสะล้อซอซึง และท่าการแสดงต่อสู้ต่างๆ ที่มีอาจารย์ในชุมชนเป็นผู้ฝึกสอน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ เด็กเหล่านี้จะไปแสดงตามงาน สร้างความภาคภูมิใจให้กับพวกเขาอย่างมาก

 

          ด้าน นางวงศา เลาหศิริวงศ์ ผู้จัดการโครง การติดตามและประเมินผลหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพฯ เล่าว่า บ้านต้นผึ้ง เป็นหนึ่งในหมู่ บ้านตัวอย่างสสส.ที่ชุมชนรอบข้างสามารถนำไปเป็นแบบอย่าง เริ่มจากเขาเห็นปัญหาใกล้ตัว จึงรวมกลุ่มกันพัฒนาหมู่บ้านคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นผลพลอยได้จากการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ

 

          ส่วนอ่างล้างจานเอสเอ็มแอลประจำหมู่บ้าน ก็เป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของชุมชน เกิดขึ้นหลังพบว่ากิจกรรมต่างๆ ที่มีการชุมนุมคนมากแล้ว มักเอาจานไปล้างจนทำให้แม่น้ำเสื่อมโทรม

 

          อีกทั้งยังดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ห่างไกลยาเสพติด ด้วยการเล่นดนตรีพื้นเมือง เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองไว้ ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้บ้านต้นผึ้งมีปั๊มน้ำมันชุมชน ที่มีสมาชิกหมู่บ้านเป็นหุ้นส่วน มีตลาดแลกเปลี่ยนผักปลอดสารพิษในชุมชน เป็นผลผลิตที่มีมากเกินสำหรับบริโภคในแต่ละวันด้วย

 

          สมแล้วที่เป็น “หมู่บ้านร่วมสร้างพอเพียงเพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน”

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

update: 16-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code