บ้านดิน ผลผลิตแห่งความเพียร
“ครูแจว” อันธิกา วันทา ผู้มุ่งมั่นใช้เวลาว่างหลังการเรียนการสอนย่ำดินวันละชั่วโมงวันแล้ววันเล่า กว่าบ้านดินจะแล้วเสร็จและเข้าอยู่อาศัยได้ก็ใช้เวลาถึงครึ่งปี
ครูแจว จบจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ระหว่างเรียนเธอร่วมกิจกรรมทำค่ายอาสาพัฒนากับชมรมต่างๆ หลังเรียนจบเธอ “ร่อนเร่” ทำค่ายกับน้องๆ ทั้งในและต่างมหาวิทยาลัย สลับกับการหารายได้ด้วยการวาดภาพตามวัด จนเมื่อไม่นานมานี้เธอผันชีวิตตัวเองมาเป็นครูสอนศิลปะ ที่โรงเรียนวัดจอเจริญสุขุมวาท อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โรงเรียนที่รับอุปการะเด็กชาติพันธุ์และเด็กยากจน ให้ทั้งที่อยู่ที่กินและที่เรียนหนังสือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แม้จะเคยทำกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยอย่างโชกโชนแต่เธอกลับบอกว่าเธอขาดความกล้า จนกลายเป็นความกลัวที่จะเริ่มต้นทำสิ่งที่ “เป็นชิ้นเป็นอัน” จนกระทั่งเมื่อเธอได้เข้าร่วมโครงการ “ไม่รวยก็สุขได้” ภายใต้โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ที่มีเด็กนักเรียนในโรงเรียนของเธอเป็นกลุ่มเป้าหมาย
ในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการร่วมกับ “แม่ตุ๊” อาจารย์พัชรินทร์ ชัยอิ่นคำ แห่งกลุ่มส่องใจ เธอรับรู้หลักการเหตุผล วัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างครบถ้วน ทว่าความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติการในค่ายไม่อาจทำให้เธอเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่ได้หนุนเสริมด้วยกิจกรรมดูงานที่สวนพันพรรณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำให้เธอได้เห็นบ้านดิน และได้รับรู้แนวคิดเบื้องหลังการสร้างบ้านดินจากปากคำของเจ้าของสวน อย่าง โจน จันได นั่นคือแนวคิดการพึ่งตัวเองและการใช้ความเพียร
ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในใจของครูแจวขณะนั้นคือ เมื่อมีผู้ใช้ความเพียรพยายามสร้างตัวและพึ่งตัวเองจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เหตุใดเธอจะทำไม่ได้บ้าง ทั้งแรงบันดาลใจ และของจริง ที่แตะต้องได้กระตุ้นให้ครูแจวตั้งปณิธานและพกความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
กลับมาบ้านที่จังหวัดเชียงราย…..เธอจะสร้างบ้านดินด้วยสองมือสองเท้าของเธอเอง
จากความคิดผันสู่การกระทำ ครูแจวใช้เวลาว่างหลังจบการสอนในช่วงเย็นวันละหนึ่งชั่วโมงย่ำดินและปั้นดินได้วันละยี่สิบก้อน ในวันหยุดทำได้มากหน่อยเพราะลูกศิษย์ที่เคยเข้าร่วมโครงการมาช่วยลงแรง ค่อยเป็นค่อยไปตามเวลา งบประมาณ และโอกาสเอื้ออำนวย หลังจากระยะเวลาผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง เธอก็ได้เข้าอยู่ในบ้านดินที่มีขนาดสี่ครึ่งคูณสี่ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 25,000 บาท
“เป็นสิ่งที่เป็นชิ้นเป็นอันชิ้นแรกของชีวิต เป็นความภูมิใจที่เราทำได้ ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะสร้างบ้านเสร็จ ตอนนี้เสร็จแล้ว มีคนมาดูบอกว่าอยากทำแต่ไม่มีเวลา เราบอกเขาว่าเราก็ไม่มีเวลาเหมือนกัน นับว่าเป็นผลิตผลจากโครงการไม่รวยก็สุขได้จริงๆ” ครูแจวบอก
บัดนั้นแนวความคิดการพึ่งตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของครูแจวอย่างมั่นคงแล้ว เธอมีความตั้งใจทำงานช่วยเหลือลูกศิษย์ในโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ที่ยากจนและด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
อิฐก้อนแรกได้ถูกก่อขึ้นแล้วด้วยน้ำมือของช่างก่อสร้างผู้มุ่งมั่น จึงมั่นใจว่าช่างอย่างครูแจวไม่หยุดมืออยู่แค่การสร้างดินเป็นแน่…แต่เป็นการสร้างคน
เรื่องโดย อันธิกา วันทา
ที่มา : หนังสือ เปลี่ยน เป็น สุข โดย โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา