‘บ้านขาม’ น่าอยู่จากเรื่องขี้หมูสู่กลุ่มอาชีพ
ชุมชนบ้านขาม มีรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้ปฏิบัติตามในด้านการส่งเสริมอาชีพ
ที่บ้านขาม หมู่ 8 ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ หมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรเพียง 644 คน ทว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่กลับมีความคิดกว้างไกลเกินขนาดของหมู่บ้านไปหลายเท่าตัว ด้วยความสำเร็จของโครงการ "บ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม" สามารถต่อยอดไปหลายๆ อย่าง ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีความสุข รักใคร่สามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ชาวบ้านขามประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กระบือ และสุกร แต่ไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ ต่างคนต่างเลี้ยง ไม่สนใจเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกรสร้างปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมมาช้านาน ทั้งน้ำเน่าเสีย และ กลิ่นเหม็นโชยคลุ้งไปทั่วหมู่บ้าน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านขาม ซึ่งนำโดย สามารถ ดาศรี กำนันตำบลบุแกรง และชาวชุมชนจึงร่วมกันทำ โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ "บ้านขามรักษ์ สิ่งแวดล้อม" ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส.
กำนันสามารถ เล่าว่า เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงสุกรไว้ภายในบริเวณบ้านของตนเอง เมื่อมีหลายครัวเรือนเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้ชีวิตเหมือนต่างคนต่างอยู่ไม่สนใจกัน จึงเกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องของกลิ่นเหม็น และน้ำเน่าเสีย ทำให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี นอกจากนี้ปัญหาจากน้ำขังตามที่ต่างๆ ยังส่งผลให้เกิดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกระบาดสูงสุดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อีกด้วย
เมื่อชาวบ้านเริ่มทนไม่ได้จึงคิดที่แก้ปัญหานี้ ให้หมดไป โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ได้มีการ คัดเลือกสภาแกนนำชุมชนจำนวน 45 คน เพื่อร่วมประชุมวางแผนบริหารจัดการปัญหาภายในชุมชน จากนั้นจัดประชาคมเพื่อให้ชาวบ้าน ทุกคนรับทราบปัญหา และคืนปัญหากลับไปเพื่อ ให้ชาวบ้านช่วยกันแก้ เสร็จแล้วจึงพาแกนนำไปศึกษาดูงานถอดบทเรียน กระทั่งมอบหมายงาน ให้แกนนำทำเป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้าน
"เราต้องสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้าน เมื่อ แกนนำมีความเข้มแข็งแล้วก็นำแนวคิดไปปฏิบัติที่คุ้มของตนเอง ซึ่งแต่ละคุ้มก็จะมีสภาแกนนำคุ้มแยกย่อยออกไปอีก" กำนันสามารถ เล่า
โครงการบ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการครอบคลุมการรักษาสิ่งแวดล้อมทุกๆ ด้าน เช่น การจัดการขยะ ความสะอาดภายครัวเรือน หน้าบ้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในหมู่บ้าน แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากครัวเรือนและชุมชน ทำให้เห็นความสามัคคี การเสียสละในชุมชนในการแก้ปัญหาและสร้างชุมชนให้น่าอยู่
"ส่วนเรื่องปัญหาจากการเลี้ยงหมู ทุกวันนี้ เบาบางลงไปเหลือผู้เลี้ยงรายใหญ่เพียงเจ้าเดียว ซึ่งเราก็ได้ขอความร่วมมือให้ไปสร้างฟาร์มเลี้ยง ที่ห่างไกลจากหมู่บ้านออกไป เพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้านเหมือนที่ผ่านมา ส่วนผู้เลี้ยง รายย่อยหลายรายก็เลิกอาชีพนี้ไปบ้างแล้ว หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เราก็จะประกาศครัวเรือนต้นแบบ และคุ้มต้นแบบที่สมารถเป็นแบบอย่างได้" กำนันบุแกรง แจงรายละเอียด
ความสำเร็จของโครงการและการมีสภาแกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้แต่ละคุ้มสามารถขยายผล ก่อเกิดฐานการเรียนรู้ประจำแต่ละคุ้มแตกต่างกันออกไป ได้แก่ คุ้มสหมิตร ดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง คุ้มจันทร์เจริญดำเนินงาน เรียนรู้เพิ่มรายได้ คุ้มสันติสุข ดำเนินงานด้าน เรียนรู้ลดรายจ่าย และคุ้มประตูสวรรค์ ดำเนินงาน ด้านแปรรูปอาหาร ซึ่งทั้ง 4 คุ้มสามารถสร้างเป็น อาชีพเสริมเป็นผลพลอยได้ทดแทนการเลี้ยงสุกร เช่น กลุ่มผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเพาะเห็นนางฟ้า กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษ กลุ่มผลิตไข่เค็ม กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
"ปัจจัยของความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากการมีแกนนำที่เข้มแข็ง การสร้างจิตสำนึก 3 ต. ได้แก่ ตระหนก ตระหนัก ต่อเนื่อง และความสามัคคีเสียสละนำมาซึ่งการร่วมใจพัฒนา 4 ท. คือ ทำทันที ทำทุกที่ ทำทุกท่า และทำทุกท่าน ในอนาคตเราคาดหวังว่าจะขยายผลการ ดำเนินงานนี้ให้ครอบคลุมทั้งตำบล" กำนันสามารถ วางเป้าหมาย
ด้าน บุญรื่น ดาศรี รองหัวหน้าคุ้มสหมิตร กล่าวว่า ภายในคุ้มสหมิตรมีการจัดฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีแปลงผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ซึ่งผลผลิตที่ได้กำไรส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้าส่วนเพื่อเป็นทุนดำเนินต่อไป อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งให้กับสมาชิก เหนื่อยแต่ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้แบบนี้
ขณะที่ จุฑาทิพย์ ต่อยอด หัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้น่าอยู่ พื้นที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการมาแล้ว 2 รุ่นๆ ที่ 1 จำนวน 54 หมู่บ้าน รุ่นที่ 2 จำนวน 140 หมู่บ้าน และรุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่จำนวน 174 หมู่บ้าน โดยความสำเร็จของแต่ละโครงการเราเน้นที่ 1.การสร้างสภาแกนนำชุมขนให้เข้มแข็ง และ 2.ผลลัพธ์ของโครงการ แต่ สิ่งแรกที่เน้นย้ำ คือ แต่ละโครงการจะต้องสร้างสภาแกนนำให้เข็มแข็งก่อนเป็นอับดับแรก เมื่อผลลัพธ์ของโครงการสำเร็จสามารถขยายผล ไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ และขยายประเด็นที่ของตนเองทำได้ด้วย เช่น บ้านขามซึ่งมีสภาแกนนำที่เข้มแข็ง ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแต่สามารถต่อยอด ไปเรื่องของการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การปลูกผัก ปลอดสารพิษ เป็นต้น ชุมชนจะต้องแก้ปัญหาได้โดยใช้กลไกสภาแกนนำชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การที่ชุมชนมีสภาแกนนำที่เข้มแข็งสามารถเป็นแบบอย่างและชุมชนมีความสามัคคีไม่ว่า จะทำโครงการอะไรก็จะประสบผลสำเร็จ ทั้งสิ้น
ชุมชนบ้านขาม มีรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมโครงการที่ประสบผลสำเร็จทั้งสภาแกนนำและผลลัพธ์ของโครงการ ต่อยอดได้หลากหลายกิจกรรม ซึ่งสามารถเป็น แบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นและเป็นแหล่งศึกษาดูงานในการบริหารชุมชนและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน เพราะถ้ากลุ่มคนไม่ลุกมาจัดการปัญหาอย่างมีระบบ ชุมชนก็ไม่น่าอยู่
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต