บู๊ทนั้น..สำคัญไฉน

 

อะไร? ที่เรียกว่าเป็นสีสันของงานประชุม

บู๊ทนั้น..สำคัญไฉน         

          เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมงานประชุมหรือสัมมนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หรือใครเป็นผู้จัดก็ตาม มักจะมีการออกบู๊ท ไม่ว่าจะเป็นบู๊ทแสดงผลงาน ประชาสัมพันธ์องค์กร จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ ทั้งที่ผู้ที่มาร่วมงานก็อาจจะมีจำนวนไม่มากเท่าไร ถ้าเทียบกับการออกบู๊ทตามห้างสรรพสินค้า

 

          เหตุที่เขาชอบมาออกบู๊ทหรือแสดงบู๊ทกันนั้น ก็เพราะระหว่างงานสัมมนาบรรดาบู๊ททั้งหลายจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะบู๊ทต่างๆ ที่มา ก็มักจะเป็นบู๊ทที่มีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยต่อกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมสัมมนา เช่น สินค้าที่ใช้ในการทำงาน หรือชีวิตประจำวัน การแจกเอกสารให้ความรู้ เรียกได้ว่าบรรดาบู๊ทเหล่านั้นมาหาลูกค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของเขา ซี่งก็มักจะได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ

 

          และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวในการสัมมนาส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางวิชาการ วิชาการ แล้วก็วิชาการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่หนักสมองซะส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าการบรรยากาศในการประชุมหรือสัมมนานั้นไม่ใช่ภาษาไทยด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่มีสมาธิและจิตใจจดจ่อนั่งฟังตลอดทั้งการบรรยายได้ เมื่อไม่มีสมาธิประกอบกับฟังไม่รู้เรื่องแล้ว ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า จะนั่งฟังทำไมเนี่ย ฟังก็ไม่รู้เรื่อง น่าเบื่อจัง เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?

 

          บู๊ทต่างๆ ที่มาเปิดนี่เอง ที่ช่วยคุณได้

 

          การแวบออกมาจากการประชุมสักครู่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะคุณไม่ได้หนีไปไหนซะหน่อย เพียงแค่ออกมานองห้องประชุมเพื่อผ่อนคลายสมอง ยืดเส้นยืดสาย ด้วยการเดินชมบู๊ทต่างๆ รับของแจก อ่านนู่นอ่านนี่ หรือบางบู๊ทก็อาจจะมีสาวสวย หรือที่เรียกกันว่า พริตตี้ ประจำอยู่ให้มองเพียงแค่นี้ก็ทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ไม่น้อย บางทีอาจจะมีของ(แจก)ติดไม้ติดมือเข้าไปในห้องประชุมด้วย พอสมองโล่งแล้ว ทีนี้ก็พร้อมที่จะเข้าไปสัมมนาต่อไป

 

       งานประชุมวิจัยทางการพยาบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เรื่อง การวิจัยทางการพยาบาล : ความท้าทายฝ่าวิกฤตสังคมสุขภาวะที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน ที่จัดขึ้นที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนามากมายจากทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐฯ และเอกชน อาจารย์จากคณะพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ครูและอาจารย์ในหมวดสุขศึกษาจากโรงเรียนมัธยม และยังมีผู้เกี่ยวข้องในวงการสาธารณสุขอีกมากมาย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่ร่วมบรรยายในงานนี้

 

        ภายนอกห้องประชุมได้มีการจัดเป็นส่วนของตลาดนัดวิจัยสู่สังคมสุขภาวะ มีการจัดบอร์ดออกบู๊ทแสดงผลงานวิจัยเพื่อแสดงศักยภาพของบุคลากรในองค์กร และเพื่อเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการพยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ เกือบ 10 แห่ง อาทิ รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ร..จุฬาภรณ์ ร..ลำปาง ร..ศรีธัญญา ร..ชลบุรี เป็นต้น จากสถาบันต่างๆอีกหลายสถาบัน เช่น สถาบันโรคทรวงอก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา  และก็ยังมีในส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งด้วย ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.บูรพา และ ม.มหิดล

 

          นอกเหนือจากบู๊ทแสดงผลงานวิจัย ก็ยังมีบู๊ทอื่นๆ ที่น่าสนใจมาจัดแสดงด้วย เช่น บู๊ทผลิตภัณฑ์ดูแลเท้า ที่มีเครื่องมือตรวจสภาพการทำงานของเท้า บู๊ทเครื่องดื่มอาหารเสริม ที่มีพริตตี้เดินแจกเครื่องดื่มให้ทดลองดื่มฟรี และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนที่ดูลูกค้าจะหนาแน่นก็คือ บู๊ทขายหนังสือลดราคา ตั้งแต่ 15 – 50 % เลยทีเดียว และในงานนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้ร่วมจัดแสดงบู๊ทเพื่อแนะนำองค์กร และแจกเอกสารความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับไข้หวัด 2009 ด้วยเช่นกัน

 

          แต่ละบู๊ทก็จะมีสไตล์การตกแต่ง จัดวาง และประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อเป็นการดึงดูดให้คนเข้ามาชมและจำยี่ห้อ หรือองค์กรนั้นได้ บู๊ทต่างๆ เหล่านี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ายิ้มออกกันทุกบู๊ท ในระหว่างที่การสัมมนาดำเนินไป ก็จะมีผู้คนที่แวะเวียนออกมานอกห้องประชุม มาเดินเล่น เข้าไปบู๊ทนั้นบู๊ทนี้ แล้วก็กลับเข้าไปฟังการสัมมนาต่อไป

         

          จะเห็นได้ว่า การออกบู๊ทนั้นอันที่จริงแล้วดูจะมีประโยชน์และผลดีกับทุกฝ่าย ดีกับผู้ที่มาร่วมการสัมมนา เพราะได้มีที่ผ่อนคลายสมองนอกห้องประชุม ดีกับเจ้าของบู๊ทตรงที่สินค้ามักได้รับความสนใจและการอุดหนุนมากเป็นพิเศษ และดีกับผู้จัดงานสัมมนาหรือประชุมก็ตรงที่งานดูไม่น่าเบื่อและมีสีสันมากขึ้นนั่นเอง

 

ลองกลับไปคิดกันดูเล่นๆ นะคะว่า หากขาดบรรดาบู๊ทเหล่านี้ไป งานจะกร่อยไหมเนี่ย?

ประมวลภาพงาน

 

 บู๊ทนั้น..สำคัญไฉน

บู๊ทนั้น..สำคัญไฉน

บู๊ทนั้น..สำคัญไฉน

 

 

 

 

เรื่องโดย : พรรณปพร ศรีเจริญ

 

 

 

update  13-11-52

อัพเดตเนื้อหาโดย : พรรณปพร ศรีเจริญ

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code