บุหรี่ ‘เลิกยาก แต่เลิกได้’
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
จากสถานการณ์ด้านพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 55.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่กว่า 10.7 ล้านคน หรือ 19.1% ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจำนวนผู้สูบบุหรี่ประจำจะลดน้อยลง แต่จำนวนผู้สูบเป็นครั้งคราวกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ดร.พิธาน พื้นทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ "เลิกเพื่อพ่อ Quit for King" และพิธีลงนามข้อตกลงระหว่าง บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ในการพัฒนา แอพพลิเคชั่นช่วยเลิกบุหรี่ "Smoke Free TH" ว่า บุหรี่เป็นการเริ่มต้นไปสู่สารเสพติดชนิดอื่น จากการสำรวจโรงเรียนกว่า 37,000 แห่ง มีเด็กที่เกี่ยวข้องกับเหล้าบุหรี่ 1.3% แบ่งเป็น ติดเหล้า 31% ติดบุหรี่ 43% และติดทั้งเหล้าและบุหรี่ 22% โดยเด็กอายุต่ำสุดคือช่วงชั้นป.5-6 ดังนั้น ทางโรงเรียนต้องดูแลกันอย่างเข้มข้น นอกจากนี้สังคมต้องช่วยกันสอดส่องดูแล
ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการให้ทุกโรงเรียนดำเนินการป้องกัน ค้นหา เฝ้าระวัง และบริการจัดการ ผ่าน 7 มาตรการ ได้แก่ ให้ทุกโรงเรียนดำเนินการตาม พ.ร.บ.ยาสูบและเหล้าอย่างเข้มงวด, ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่, ครูและผู้บริหารต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง, ห้ามนักเรียนสูบบุหรี่, สอดแทรกความรู้ในการเรียนการสอน, รณรงค์ผ่านกิจกรรมภายในโรงเรียน และสุดท้าย ต้นสังกัดต้องสนับสนุนงบประมาณในการทำสื่อรณรงค์ นอกจากนี้ ต้องปลูกฝังความเชื่อให้เด็กใหม่ ว่าทำอย่างอื่นก็เท่ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งบุหรี่
ทั้งนี้ ในบุหรี่ซึ่งเต็มไปด้วยสารมากถึง 7,000 ชนิด และมีถึง 70 ชนิดที่เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ และนิโคติน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อตัวผู้สูบ แต่ควันบุหรี่ยังมีประสิทธิภาพในการทำร้ายคนรอบข้าง ปัจจุบัน จึงมีหลายหน่วยงานหันมารณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิกบุหรี่ เนื่องจากยอดคนไทยที่สูบบุหรี่ยังคงมีจำนวนมากถึง 20.7% ถึงแม้สถิติการสูบบุหรี่จะลดลงแล้วก็ตาม แต่มีการประเมินว่า 1 ใน 4 ของผู้สูบ จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป
สมัครใจเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.
กษิดิศ ขันธรัตน์ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย ผู้ริเริ่มโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปัจจุบัน มีทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และห้างร้านต่างๆ เข้าร่วมกว่า 400 องค์กร เราทำงานร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1,040,000 คนทั่วประเทศ ชวนคนในหมู่บ้านและชุมชนเลิกบุหรี่ ในอัตราส่วน อสม. 1 คน ต่อคนเลิกบุหรี่ 3 คน ด้วยวิธีการหักดิบ และชักชวนต่อๆ กัน จากการดำเนินงานมา 2 ปี มีคนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.4 ล้านคน มีคนที่เลิกได้ 6 เดือนขึ้นไปและเลิกขาดราวๆ 2.4 แสนคน
"ก่อนทำโครงการมีจำนวนคนเลิกบุหรี่ได้เพียงหลักพันต่อปีเท่านั้น แม้ปัจจุบันคนที่เลิกได้จะอยู่ที่หลักแสน แต่ก็ถือว่าไม่เคยมีประเทศไหนทำได้ จากแนวโน้มการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นด้วยสิ่งเร้าอย่างบุหรี่ไฟฟ้า และโซเชียลมีเดีย ทำให้มีนักสูบหน้าใหม่ตลอดวเลา เราต้องเดินหน้าโครงการต่อไปเพื่อให้คน ที่ยังไม่เลิกสามารถเลิกได้ และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ หลังจากจบโครงการ ในเดือนตุลาคม 2562 คาดจะมีคนเลิกบุหรี่ได้ขาดราวๆ 3 แสนคน นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจเลิกบุหรี่สามารถโทรรับ คำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ Quit Line 1600 อีกด้วย"
เภสัชกร เพื่อนร่วมทาง เลิกบุหรี่
ด้าน ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ในร้านยาจะมีเภสัชกรที่สามารถให้คำแนะนำได้ ในส่วนของสมาคมเอง มีสมาชิกประมาณ 6,000 คนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะในชุมชนและสถานศึกษา เราอยากจะมีส่วนร่วมกับภาครัฐเพื่อให้ประชาชนถึงเป้าหมาย เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางสำหรับคนอยากเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ผู้ที่สมัครใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยทางเภสัชกรจะให้คำแนะนำ พูดคุย และติดตามผล นอกจากนี้ ตัวช่วยที่สำคัญที่สุด คือ "ครอบครัว" ที่จะเป็นแรงจูงใจ หรือบางคนบางคนอาจต้องใช้ยา เพราะการติดนิโคติน เหมือนคนไม่สบาย ก็อาจจะใช้ยาช่วยร่วมด้วย
คลินิกอดบุหรี่ สำนักอนามัย
พญ.ศุภนิตย์ พุฒิโภคิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันทางสำนักอนามัย มีศูนย์บริการสาธารณสุขทั้งหมด 68 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2561 เราเปิดให้มีศูนย์บริการในการเลิกบุหรี่หรือ "คลินิกอดบุหรี่" จำนวน 18 แห่ง ซึ่งมีทั้งทีมแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ คอยให้คำปรึกษา โดยผู้ที่สนใจเลิกบุหรี่สามารถแจ้งความต้องการ และเข้าพบนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการ หากเลิกเองได้ อาจใช้น้ำยาบ้วนปากอดบุหรี่ สำหรับคนที่มีแนวโน้มเลิกยากอาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย ทั้งนี้ ทางสำนักอนามัย มีแผนที่จะเปิดให้บริการคลินิกอดบุหรี่ให้ครบทั้ง 68 แห่ง ภายในปี 2562 สำหรับผู้ที่สะดวกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า สามารถไปขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี, ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง และศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน
ด้าน ภก.วีรวัฒน์ มีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และการเข้าถึงยา บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า การเลิกบุหรี่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดกัน ถ้าเลิกแบบหักดิบจะได้บางคนที่จิตใจแข็งแรงจริงๆ เท่านั้น แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกบุหรี่แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เราจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นช่วยเลิกบุหรี่ "Smoke Free TH" ซึ่งเปรียบเสมือนบัดดี้ ที่เต็มไปด้วยข้อแนะนำ ติดตามผล และสามารถย้อนดูเส้นทางความสำเร็จที่ผ่านมาได้ พร้อมกันนี้ ยังสามารถโทรปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำได้อีกด้วย
"การเลิกบุหรี่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดกัน ถ้าเลิกแบบหักดิบจะได้บางคนที่จิตใจแข็งแรงจริงๆ เท่านั้น แอพนี้จะเปรียบเสมือนบัดดี้ ที่เต็มไปด้วยข้อแนะนำ"