“บุหรี่ไอน้ำไร้นิโคติน” อันตรายซ่อนเร้น

แพทย์เตือน “บุหรี่ไอน้ำไร้นิโคติน” ไม่มีงานวิจัยรับรองช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่กลับพบติดบุหรี่แบบมวนซ้ำ หวั่นทำเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่ ชี้เลิกบุหรี่ใจต้องอยากเลิกก่อน


“บุหรี่ไอน้ำไร้นิโคติน” อันตรายซ่อนเร้น thaihealth

แฟ้มภาพ


นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใช้อุปกรณ์ทดแทนการสูบบุหรี่แบบมวน ว่า ปัจจุบันอุปกรณ์มีการพัฒนาไปหลายรูปแบบ โดยอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ปกติจะมีการผสมนิโคติน และใช้กระบวนการทางอิเลกทรอนิกส์เพื่อเหนี่ยวนำนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย แต่ช่วงหลัง พบว่ามีการโฆษณาอุปกรณ์คล้ายๆ กัน แต่ทำให้เป็นไอน้ำ และระบุว่าไม่มีนิโคติน เพื่อใช้ในการเลิกสูบบุหรี่ แต่พบว่า ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ใด ๆ ที่ระบุว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น โดยมีการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า เยาวชนระดับมัธยมปลาย มีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ถึงร้อยละ 16 และพบว่าเด็กกลุ่มนี้ยังติดบุหรี่แบบมวนอีกด้วย


 “การใช้อุปกรณ์บุหรี่ไอน้ำ พบความน่าเป็นห่วงว่า น้ำยาที่ใช้เติมลงในอุปกรณ์นั้นไม่มีการควบคุมมาตรฐาน และมีองค์ประกอบที่ไม่ได้เปิดเผยทำให้ไม่ทราบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนัก หรือ สารปนเปื้อนอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ รวมทั้งไม่มีการติดตามผลการใช้ระยะยาวทำให้ไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจจะได้รับ แต่อาจจะมีผลต่อกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืดได้ และยังน่าเป็นห่วงว่า การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จะทำให้เยาวชนยอมรับว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นเรื่องปกติ และทำให้ไปสู่เส้นทางนักสูบหน้าใหม่ในที่สุด” นพ.ฉันชาย กล่าว


นพ.ฉันชาย กล่าวว่า วิธีการเลิกบุหรี่ทางการแพทย์ที่แนะนำในการเลิกบุหรี่ ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการรักษาอย่างเหมาะสมได้หลายช่องทางด้วยกัน เริ่มแรกผู้สูบต้องอยากเลิกด้วยตนเองก่อน จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง หากไม่มั่นใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่เภสัชกรในร้านขายยาคุณภาพ คลินิกเลิกบุหรี่ หรือ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600


ซึ่งจะมีเทคนิคการเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง การระงับความอยากอย่างถูกต้อง ส่วนการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่นั้น แนวปฏิบัติทางการแพทย์ จะแนะนำให้ใช้ในกลุ่มที่ติดบุหรี่มาเป็นเวลานาน พยายามเลิกด้วยตนเองหลายครั้งแล้วไม่สามารถเลิกได้ หรือ สูบบุหรี่จนเกิดโรคประจำตัวจำเป็นต้องเลิกแต่ยังเลิกไม่ได้ เป็นต้น ส่วนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งแบบเติม และไม่เติมนิโคติน ไม่มีหลักฐานว่าช่วยเลิกบุหรี่ และอาจทำให้ติดทั้งสองอย่างด้วย


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์


 

Shares:
QR Code :
QR Code