บุญไม่เปื้อนบาป ถอดน้ำเมาจากงานบุญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
ความหมายของคำว่า "บวช" ในสมัย พุทธกาล หมายถึง "งดเว้น" ที่จะทำให้ ตัวเอง ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น ใครก็ตามที่บวชแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น นั่นย่อมหมายถึง คุณยังไม่บรรลุถึงการบวช
พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัด ชลประทานรังสฤษฏ์ เล่าถึงครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชให้ทราบว่า ในตอนนั้น เจ้าชาย สิทธัตถะ ได้ "งดเว้น" หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมีมาออกไปจนหมด ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ตัดสินใจที่จะออกบวชพระองค์มีเพียงสามชีวิตเท่านั้นที่ตามมาด้วยคือ นายฉันนะ ม้ากัณฐกะ และตัวพระองค์เอง
โดยศักยภาพของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อจะออกบวช หากพระองค์ต้องการทำให้ใหญ่โตเอิกเกริกอย่างไรก็ได้ แต่พระองค์ได้ "งดเว้น" ทำให้การบวชครั้งนั้นไม่มีการลงทุน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งผิดกับการบวชในปัจจุบันที่พยายามจะสร้างความเอิกเกริก สร้างความใหญ่โต บางรายเลยเถิดจนสร้างความเสียหายให้แก่งานบวชอย่างน่าเสียดาย คำว่า บวช ที่หมายถึง การงดเว้นที่จะไม่ทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปอีก จึงผิดวัตถุประสงค์ไปอย่างสิ้นเชิง จนมีเสียงออกมาจากสังคมหลายแห่งว่า พุทธศาสนากำลังจะเสื่อมลง
ในเรื่องที่ว่าพุทธศาสนากำลังเสื่อมหรือพระปัญญานันทมุนี ยืนยันให้ทราบว่า อยากให้มาดูระเบียบการบวชนาคที่แท้จริงที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ว่าควรทำอย่างไร เพื่อจะได้เห็นว่าศาสนาไม่ได้เสื่อม ไม่ได้หมดหวังอย่างที่หลายคนคิด แต่ยังมีหวังเพื่อที่จะแก้ไขให้งานบวชเป็นงานที่บริสุทธิ์ ปราศจากน้ำเมา อยากให้ทุกท่านช่วยกันรักษาการบวชเอาไว้ให้เป็นวิถีที่ดีงาม รักษา ศาสนา ชีวิตของท่าน ลูกหลานของท่านให้เจริญด้วยความดีตลอดไป…เจริญพร
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานเครือข่าย องค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชน ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์และเสวนาในหัวข้อ "บุญไม่เปื้อนบาป ถอดน้ำเมาจากงานบุญ" ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี ทำให้ได้ข้อคิดอะไรหลายอย่างจากงานนี้
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้เปิดเผยตัวเลขจากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดและงานบุญประเพณี โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2562 ในกทม. พบว่า ประชาชนร้อยละ 73 เห็นด้วยว่าไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานบวช ร้อยละ 80.6 มองว่างานบุญ งานบวช สามารถบรรลุเป้าหมายของงานได้โดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในทางกลับกันพบว่า ประชาชนร้อยละ 34.8 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบวช ร้อยละ 41.5 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานทอดกฐิน จึงสามารถสรุปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่แม้ไม่เห็นด้วยกับการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานบวช แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะดื่มและมองว่าการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นของฟรีที่เมื่อไปร่วมงานแล้วใส่ซองควรได้ดื่มกินเลี้ยงฉลอง ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงของงานบุญงานบวชก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญในการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่เช่นกัน
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงการจะทำอย่างไรให้ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ที่จริงแล้วตามกฎหมายอาญาระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตวัดและโรงเรียน รวมถึงห้ามจ่ายในบริเวณพื้นที่ ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เพียงตนเองเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับผู้อื่นหรือเรียกได้ว่าเป็นผลกระทบจาก "เหล้ามือสอง" คืออาการมึนเมาที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการทะเลาะวิวาทกับคนในครอบครัวและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเมาแล้วขับก็ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่หากสามารถเปลี่ยนนิสัยให้คนในบ้านลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ก็จะสามารถขยายผลไปยังชุมชนและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง
การอนุรักษ์ประเพณีไทยถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีวัฒนธรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่วัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ควรเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กและเยาวชน ที่อาจจะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต ดังนั้นการแยกอบายมุขต่าง ๆ ออกจากพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและเต็มใจ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกต่ำลงไปกว่านี้