บุคลากรด้านรังสี ปฏิบัติตามหลักป้องกันห่างไกลมะเร็ง
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรังสีแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะ "ด้านการแพทย์" ที่ใช้รังสีเอกซ์ในการตรวจวินิจฉัย การใช้เครื่องเร่งอนุภาคต่าง ๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง รังสีไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ
บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี จึงมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากรังสีในขณะปฏิบัติงาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของบุคลากรด้านรังสีจากการปฏิบัติงาน ย้า!!แม้พบความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งไม่มาก แต่ต้องปฏิบัติตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างเคร่งครัด พร้อมเดินหน้าตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ ตามภารกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองบริโภค
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้จัดทำโครงการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของบุคลากรด้านรังสีจากการปฏิบัติงาน โดยทำการประเมินค่าปริมาณรังสีเฉลี่ยในกลุ่มบุคลากรจำนวน 35,428 ราย จำแนกบุคลากรจากที่ใช้บริการแผ่นรังสีบุคคลตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา ทันตกรรม อุตสาหกรรม เวชศาสตร์นิวเคลียร์ วิจัย และรังสีรักษา ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพจากข้อมูลปริมาณรังสีที่บุคลากรได้รับ เพื่อประเมินเป็นค่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับปริมาณรังสีเฉลี่ย 0.596 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี มีโอกาสเกิดมะเร็งจากการปฏิบัติงานที่ 3 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน รองลงมาคือกลุ่มรังสีร่วมรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ซึ่งมีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่ 2 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน และน้อยที่สุดคือกลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและวิจัยที่มีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่ 1 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน จากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณรังสีบุคคลของปี 2559 ถึง 2560 สามารถสรุปได้ว่าทุกกลุ่มมีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานต่อจำนวนบุคลากรในแต่ละกลุ่มน้อยมาก
นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางด้านรังสี ควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันอันตรายจากรังสี ต้องปฏิบัติตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างเคร่งครัดและต้องมีการเฝ้าระวังการได้รับรังสีอย่างสม่าเสมอ การได้รับรังสีสูงในขณะปฏิบัติงาน อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง เกิดการทำลายเซลล์อ่อนที่แบ่งตัวเร็วภายในร่างกาย เช่น ไขกระดูก หรือเกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย จนถึงระดับมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หากเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม ดังนั้นการติดอุปกรณ์วัดระดับรังสีบุคคล เพื่อให้ทราบปริมาณรังสีที่ได้รับ การใช้เครื่องกำบังรังสี เพื่อกันรังสีที่จะได้รับให้มีระดับลดลง การตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณที่ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังปริมาณรังสีในพื้นที่การทำงาน เหล่านี้เป็นมาตรการเบื้องต้นที่สามารถลดความเสี่ยงในการได้รับรังสีในระดับสูงโดยไม่จำเป็น
"นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ทำการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ ตามนโยบายและประกาศควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขและภารกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ตามกฎระเบียบด้านเครื่องมือแพทย์ (ASEAN Medical Device Directive) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการแสดงเอกสารตาม Common SubmissionDossier template (CSDT) ที่สำคัญคือข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหาหน่วยตรวจเพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปประกอบการขึ้นทะเบียน โดยเครื่องมือแพทย์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การตรวจสอบคุณภาพนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เครื่องมือแพทย์ที่มีกำลัง เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่อง MRI เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจ เครื่องวัดความดันโลหิต, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดให้น้ำเกลือ สำลี ถุงยางอนามัย กระบอกฉีดยา และเครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (In Vitro Diagnostic (IVD) medical devices) เช่นน้ายาสำหรับวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV, HBV, HCV ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหลายหน่วยงานให้บริการ ได้แก่ สำนักยาและวัตถุเสพติด สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สถาบันชีววัตถุ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ขึ้น เพื่อให้ตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ในการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของไทย และนำพาไทยไปสู่การเป็น "Medical Hub" ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนาขีดความสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่มีความสอดคล้องกับสากลมากขึ้น" นายแพทย์สุขุมกล่าว