บางกอกน้อยโมเดล ต้นแบบชุมชนสุขภาพดี

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานแถลงข่าว “บางกอกน้อยโมเดล 2” วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SiMR) รพ.ศิริราช

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างประชากรของประเทศกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สวนทางกับประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง ส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในทุกภาคส่วน รัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรต้องตระหนักรู้ถึง “สุขภาพที่ดี = ชีวิตที่ดี”  เพื่อสร้างความพร้อมด้านสุขภาวะของคนในสังคมให้สามารถรองรับและแก้ไขปัญหาได้

                    จึงเป็นที่มาของงานแถลงข่าว “ศิริราชรุกเข้าถึงชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน ในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” มุ่งสร้างต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Health City) ชุมชนสุขภาพดี (Health Community) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการยกระดับระบบสุขภาพเชิงรุก เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน โดยใช้ชุมชนบางกอกน้อย เป็นพื้นที่นำร่องโครงการติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 8 ปี

                    ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการนี้ว่า สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของเขตบางกอกน้อยเป็นที่ราบลุ่ม มีคลอง และคูจำนวนมาก เดิมประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำสวนผลไม้ ซึ่งปัจจุบันสังคมมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปและมีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น

                    “ทางคณะแพทย์ฯถือว่าการสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างโมเดลชุมชนสุขภาพดี โดยเริ่มจากลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ รพ.ศิริราช คือ ชุมชนเขตบางกอกน้อย และได้นำประสบการณ์มาถอดบทเรียนความสำเร็จในหลายมุมมองให้เหมาะสมกับชุมชน อาทิ แผนบริหารโครงการ การประสานงานเครือข่าย พัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำไปออกแบบการพัฒนากิจกรรม สู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืน”

                    ด้านนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มีบทบาทของหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้ทำงานสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่มีศักยภาพในกระบวนการสร้างสุขภาพ และสุขภาวะของชุมชนบางกอกน้อยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายดังกล่าว สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เร็วขึ้น

                    “…สสส. มั่นใจว่าการสนับสนุนโครงการบางกอกน้อยโมเดลต่อเนื่องมาถึงเฟส 2 ภายใต้พันธกิจ จุดประกาย กระตุ้น สานพลัง ส่งเสริมบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถ ย่อมสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดีของทุกคน…”นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    นอกจากนี้ ภายในงานยังได้กล่าวถึงขั้นตอน การจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ที่ดำเนินงานผ่านโครงการทั้งหมด 8 โครงการ ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ฟังด้วย มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาดูกัน

  1. โครงการพัฒนาต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง สร้างเครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครกู้ชีพในพื้นที่ชุมชน ให้มีความรู้ในการปฐมพยาบาล ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนรถพยาบาลมาถึง
  2. โครงการรูปแบบระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศโดยชุมชนในบางกอกน้อยโมเดล พัฒนาระบบการแจ้งเตือนผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมคำแนะนำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ
  3. โครงการบางกอกน้อยปลอดภัยไร้โรคอ้วน มุ่งให้ความรู้ด้านสุขภาพ อาทิ เรื่องอาหาร กิจกรรมทางกาย การคัดกรองโรค NCDs เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ห่างไกลจากโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงอย่างยั่งยืน
  4. โครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ให้บริการเชิงรุกด้วยหลักการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา สังคม และการเสริมพลัง พร้อมอบรมวิทยากรชุมชน เพื่อดูแลคนในชุมชนของตนเอง
  5. โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถีและให้การปรึกษาทางเพศในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย จัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ความรุนแรงด้านเพศสภาวะ และความไม่เท่าเทียม
  6. โครงการการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน โดยการเรียนรู้ทางแอพพลิเคชั่น ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลที่นำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น
  7. โครงการแกนนำเฝ้าระวังเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชนเมืองวิถีใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้คนในชุมชนมีทักษะการคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และแปลผลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง เช่น ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว การใช้เครื่องวัดความดันโลหิต เป็นต้น
  8. โครงการต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็กชุมชน จัดทำโปรแกรมกิจกรรมเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ และการช่วยเหลือตนเองที่ไม่ซับซ้อน

                    โครงการบางกอกน้อยโมเดล ถือเป็นต้นแบบชุมชนสุขภาพดี ที่สามารถนำไปสู่การสร้าง “เมืองสุขภาพดี” ด้วยพลังของคนในสังคมอย่างแท้จริง

                    การสร้างเสริมสุขภาวะยังคงเป็นพันธกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายเดินหน้าขับเคลื่อนและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักสุขภาพคนไทยเป็นความสำคัญ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพในทุกมิติ ให้แก่ประชาชน ลดเสี่ยง ลดโรค เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code