บางกอกนี้ดีจัง พื้นที่สร้างสรรค์รู้ทันปัจจัยเสี่ยง
ปัจจุบันเด็กเยาวชนอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและพิษภัย เด็กสามารถเดินถึงร้านเหล้าได้ภายใน 7 นาที ไปร้านเกมและแหล่งพนันได้ในเวลา 15 นาที เข้าถึงซีดีลามกและสถานบันเทิงได้ใน 30 นาที ดังนั้นจำเป็นอย่าง ยิ่งที่พวกเขาจะต้องมีภูมิคุ้มกันมีทักษะชีวิตรอบด้าน มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย
อย่างไรก็ดีทุกฝ่ายคงต้องเร่งวางมาตรการร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริมให้เกิดการรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง มีกิจกรรมสร้างสรรค์และเกิดพื้นที่ดีลดพื้นที่เสี่ยงเพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนรวมถึงประชากรกลุ่มคนทุกวัยในชุมชน
ที่น่าสนใจเมื่อไม่นานมานี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานมหกรรมบางกอกนี้ดีจังภายใต้แนวคิด "เพลินบางกอกนี้…ดีจัง 3 ดีมีชีวิต" ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ณ บริเวณลานยิ้มริมน้ำคลองบางหลวงวัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ เพื่อรณรงค์ลดพื้นที่เสี่ยงมุ่งสู่การทำพื้นที่สร้างสรรค์สร้างกิจกรรมชุมชนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ภายในงานมีการแสดงจากกลุ่มเยาวชน Wow! บางกอกเชิดมังกร และทอล์ก&โชว์เพลงพื้นบ้าน ลิเกฮูลู รำโทน รำวงย้อนยุค และยังมีกระบวนการสื่อพัฒนาเด็กเยาวชน อาทิ เรียนรู้ลงมือทำ บ้านภูมิปัญญา เรือกระทงกาบมะพร้าว บิดกลีบบัว ภาพเขียนลายรดน้ำ นิทรรศการภาพถ่าย ภาพวาด เด็กเล่าเรื่องยิ้ม กิจกรรมทำมือ ศิลปะเรียกยิ้ม ปั้นแป้งหลากสี หน้ากากหรรษา ทำของเล่นสื่อสนุก กังหันลม และครัวยิ้ม เด็กทำขนม ฯลฯ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร อธิบายถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในครั้งนี้ว่ากรุงเทพมหานครเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สสย. สสส. และที่ขาดไม่ได้คือกลุ่มเด็กเยาวชนชุมชนโรงเรียนจากเครือข่ายบางกอกนี้ดีจังเขตบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางพลัด พระนคร บึงกุ่ม และสวนหลวง ที่ช่วยผลักดันให้พื้นที่ชุมชน กทม.เกิดกิจกรรมบางกอกนี้ดีจังมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาใช้ประโยชน์ พัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชน คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ สื่อศิลปวัฒนธรรมการแสดงฝึกทักษะชีวิต ทำงานอาสา การออกแบบช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันในการเท่าทันตนเองเท่าทันสื่อเท่าทันสังคม และเกิดการใช้ภูมิปัญญาในชุมชนปกป้องดูแลสร้างชุมชนให้น่าอยู่ เอื้อต่อการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนต่อไป
"ขณะนี้เรามีพื้นที่ตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว อาทิ พื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย บางพลัด พระนคร บึงกุ่ม และสวนหลวง ได้เริ่มทำพื้นที่สร้างสรรค์และพร้อมขยายต่อยอดสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้ คือการที่เด็กและเยาวชนคนในชุมชนตื่นตัวลุกขึ้นมาทำกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอความหวังจากส่วนราชการ และในระยะยาวทุกภาคส่วนจะบูรณาการงานเข้ามาเองเป็นระบบที่เกิดจากฐานรากคือชาวบ้านจริง ไม่ใช่ระบบ สั่งการจากบนสู่ล่าง" ดร.ผุสดี กล่าวย้ำ
ขณะที่ สุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายเยาวชนบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า ต้องชื่นชมและขอบคุณผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญสนับสนุนกลุ่มเด็กเยาวชนและคนทั่วไปให้ได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันเด็กเยาวชนตกอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและพิษภัย เข้าถึงอบายมุข ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ รวมถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัยได้ง่ายมาก จึงหวังว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นวันนี้จะเป็นทางเลือกให้ทุกคนตื่นตัวต่อการทำกิจกรรมทางสังคม ใช้ศักยภาพสื่อสาร สร้างการรับรู้ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้พัฒนาตนเองและส่วนรวม โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาของเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมให้ได้ศึกษาเรียนรู้ชุมชน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงออกมากมาย รวมถึงมีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมให้รับชม ซึ่งปีนี้มีการเปิดเส้นทางเดิน-ปั่น ตามยิ้ม 3 ดีมีชีวิตบางกอกนี้ดีจัง เพื่อสื่อสารกับคนในชุมชนถึงกิจกรรมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม อยากให้เกิดกิจกรรมแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ ทำกิจกรรมเชิงบวกร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนเกิดภูมิคุ้มกันห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงสิ่งเสพติด
เรียกได้ว่า เมืองบางกอก ยังคงเป็นเมืองที่มีชุมชนเป็นมิตร เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองที่สร้างวิถีสุข มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เต็มไปด้วยสื่อภูมิปัญญา สื่อวัฒนธรรม สื่อศิลปะชุมชน เด็ก เยาวชน โรงเรียน ชุมชนสามารถได้รับและได้ใช้สื่อที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในแต่ละช่วงวัย มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีได้ โดยไม่จำกัดโอกาส เวลา และสถานที่ คนในชุมชนสามารถมาร่วมใช้ประโยชน์ ซึ่งหมายถึงการมีทักษะที่จะคิดวิเคราะห์เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในการเท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม และเกิดการใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชน เพื่อมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลและสร้างสรรค์ชุมชนร่วมกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก