บันทึกเรื่อง ‘เหล้า’ ที่ ‘เล่า’ ไม่มีวันจบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


เปิดใจคนเลิกเหล้าหัวใจหินและใจเพชร จาก '3 เรื่องราวของ 3 บุคคลต้นแบบ ในโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2561' ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


มาดูกันว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้พวกเขาฝ่าฟันอุปสรรคชนะใจตัวเองมาถึงวันนี้


1.


"เมื่อก่อนเราดื่มเวลาเฉพาะอยู่กับเพื่อน ดื่มเพื่อสังสรรค์น่ะ ไม่ได้ติดอะไร แต่จะเจอเพื่อนบ่อย สังสรรค์กันทุกศุกร์เสาร์ยาว ถึงไหนถึงกัน แต่หลังจากเข้าโครงการนี้เราก็ห่างแอลกอฮอล์มากขึ้น"


ขนิษฐา สกุลทอง ในวัย 37 ปี เล่าว่าเริ่มดื่มมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น แต่โดยปกติแล้วไม่ได้ดื่มประจำ มาช่วงที่หลังคลอดลูก คนที่สอง เธอหันมากินยาบำรุงร่างกายประเภทยาดองเหล้า จึงทำให้กิจวัตรการดื่มเริ่มถี่ขึ้น


"ส่วนใหญ่แทบไม่ต้องซื้อ เพื่อนชวนตลอด แต่พอเวลาทานเยอะ ตื่นเช้ามาร่างกายเราเริ่มมีอาการสั่นๆ  อาการแบบที่เขาเรียกว่าต้องกินถอนน่ะ แต่พอห่างแอลกอฮอล์ เดี๋ยวนี้อาการนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว"


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


เมื่อถามว่าทำไมถึงตัดสินใจเลิก เธอตอบว่า "เพราะเรามีลูก ก็อยากเป็น ตัวอย่างให้เขา ยอมรับนะว่ากลัวลูก จะดื่มตาม ที่ผ่านมาจึงจะพยายามไม่ดื่ม ให้ลูกเห็น


"พอดีมีเพื่อนที่รู้จักอีกกลุ่มเป็นคนชวนเรา เขาไม่ได้พูดว่าให้เราเลิกดื่มนะ แต่เขาจะบอกให้เราลดลงได้ก็ดี เลยตัดสินทดลองดูเมื่อเข้าพรรษาปีที่แล้ว"


หลังเว้นระยะการดื่ม ฟีดแบ็คแรกที่เห็นชัดคือ ความรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จากความรู้สึกที่ได้รับ ทำให้เธอตั้งเป้าอยากหมายอยากอยู่ในตำแหน่งคนหัวใจหินต่อไปเรื่อยๆ


แม้วันนี้อาจยังไม่กล้ารับปากว่า จะเลิก 100% เพราะยังต้องใช้ชีวิต เจอะเจอเพื่อนฝูงเข้าสังคมอยู่บ้างก็ตาม


"เดี๋ยวนี้เวลาขี่รถผ่านร้านขายของชำ ที่เพื่อนๆ นั่งดื่มกันประจำ ก็จะพยายามเลี่ยง ถ้าปฏิเสธไม่ได้ เขาส่งแก้วให้ เราก็บอกขอครึ่งเดียวแล้วกันนะ เดี๋ยวเราต้องออกไป นู่นนี่ หรือมีธุระมีงาน ไม่ก็พรุ่งนี้ต้องไป ส่งลูกแต่เช้า"


ปีนี้เป็นปีที่สองของการรับตำแหน่ง "คนหัวใจหิน" สำหรับขนิษฐาในส่วนลึกๆ ยอมรับว่ามันคือความภูมิใจเล็กๆ ที่สามารถ "ใจหิน" กับเหล้ามาจนถึงสองปีซ้อน


"ลึกๆ ก็ตั้งใจว่าอยากเลิกตลอด แต่อย่างที่บอกเรายังมีเพื่อน ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ข้อดีของการเลิกดื่มคือเมื่อก่อนเราใช้เวลาอยู่กับเพื่อน แต่ตอนนี้ เราเปลี่ยนไปหาแม่แทน มันทำให้ได้อยู่กับแม่มากขึ้น"


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


2.


ณัฐวัฒน์ ทองเรืองรักษ์ หนุ่มน้อยวัย 17 ปีจากเมืองตรัง เล่าว่า เริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ซึ่งเขาเอ่ยว่า การดื่มในวัยนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่คนในพื้นที่ทำกัน เพราะอายุสิบกว่าๆ เด็กๆ ในชุมชนก็มีทั้งดื่มเหล้า ทั้งสูบบุหรี่แล้ว


"ผมเข้าวงการเพราะเพื่อนชักชวน ในครอบครัวก็มีคนดื่ม เขาเลยไม่ได้ห้ามเรามาก แต่เตือนว่าไม่ให้เราดื่มแล้วขับรถเป็นอันตราย ซึ่งเราก็ไม่ทำ"


"แต่เราดื่มแค่งานสังสรรค์ ไม่ได้ดื่มทุกวัน และเราไม่สูบบุหรี่ ตอนแม่มาชวน ผมก็เห็นว่าเป็นแค่ช่วงเข้าพรรษา ก็โอเคอยากลองดูว่าทำได้ไหม ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงจุดนี้"


ด้าน ใยนาถ ทองเรืองรักษ์ ผู้เป็นแม่ เล่าถึงแรงจูงใจที่ชักจูงลูกชายให้เข้าสู่โครงการนี้ว่า ที่มาเกิดจากการที่เธอเริ่มเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการนี้เป็นปีแรก เลยมองว่าน่าจะเริ่มจากคนในครอบครัวก่อน จึงชวนทั้งสามีและลูกงดเหล้าเข้าพรรษา


"เพราะถ้าเราไปชวนคนอื่น เขาจะย้อนเรามาว่าคนที่บ้านยังดื่มอยู่เลย"


จากการเห็นว่าในทุกช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงปิดเทอมพอดี ปกติเด็กๆ จะไปดื่มกันกับเพื่อนๆ


"เราเห็นเขารวมกลุ่มกัน เสาร์อาทิตย์วันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์ดื่มหมด บ่อยมาก เลยอยากลองดูว่าถ้าเขาหยุดสามเดือนนี้ จะเป็นไงบ้าง ทำได้ไหม เลยให้เขาทดลองดูว่าวันเกิดเลี้ยงน้ำอัดลมแทน แต่ตอนนี้เพื่อนก็เลยหันมาไม่ดื่มกันไปด้วย เราชวนน้องเขาเป็นคนแรก แต่กลับยังได้เพื่อนลูกมาทั้งแกงค์เลย 7-8 คน เห็นเขาทำเลยทำตาม"


พองดดื่มได้สามเดือน ณัฐวัฒน์ เล่าว่า ชีวิตตอนที่ดื่มกับไม่ดื่มนั้นแตกต่างกันมากมายและมีแต่เรื่องดีเข้ามา


"ตอนดื่มเสียทั้งเงินค่าเหล้า เพราะ ค่าขนมที่แม่ให้เราจะเอาไปซื้อเหล้า ส่วนร่างกายก็ทรุดโทรม เพราะตั้งแต่ดื่ม เราก็ไม่ได้ออกกำลังกาย รู้ตัวเองเลยว่าสุขภาพดีขึ้น ที่สำคัญตอนนี้ยังสามารถ เอาเงินค่าเหล้า ไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่ที่อยากได้ ให้ตัวเองแทน" เขาเล่า พร้อมหัวเราะ


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


3.


"สำหรับตัวผมเองมันแตกต่างตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการ พอเราหยุดปุ๊บเรื่องสุขภาพดีขึ้น ค่าใช้จ่าย สติสัมปัญชัญญะดี สามารถไปคุยกับชาวบ้านสมาชิกได้เต็มที่ในฐานะแกนนำ"


จำรัส กลิ่นอุบล ประธานชุมชนลาดพร้าว 45 เล่าถึงจุดเปลี่ยนเส้นทางก้าวสู่ "คนหัวใจเพชร" ว่า


"ผมเข้ามาในฐานะผู้ประสานงาน เรามองว่าต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ชุมชน เพราะเราทำงานกับเยาวชนและในชุมชน มีผู้ติดสุราเรื้อรังค่อนข้างเยอะ เพื่อหาทางแก้ จึงสมัครใจเลิกดื่มตั้งแต่นั้นมา"


เขาเป็นนักดื่มมาตั้งแต่อายุสิบกว่าๆ ดื่มสังสรรค์เฮฮาเกือบทุกวัน


"แรกๆ เรายังไม่รู้ว่าสมรรถภาพร่างกายตัวเองก็ค่อยๆ ลดดื่มจนรู้สึกว่าหักดิบได้ตัดสินใจหักดิบ เพราะมั่นใจว่าไม่มีผลข้างเคียง เริ่มจากเข้าพรรษา เราเริ่มมา ทีละขั้นกว่าจะลงตัว


ในด้านการทำงานขับเคลื่อนเรื่องเหล้าในชุมชน เขาเล่าว่าเกิดจากเห็นปัญหาว่า ในชุมชนมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหล้า และเสียชีวิตหลายราย


แต่การจะพุ่งประเด็นไปผู้ใหญ่เลยลำบาก เพราะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา เลยต้องใช้ลูกหลานเขามาเป็นตัวเชื่อม ให้เห็นว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกหลานเขาต้องพลาดจาก การเรียน พลาดอนาคตดีๆ ในหลายเรื่อง


"เราจะยกประเด็นพวกนี้มาคุยกับ ชาวบ้านรวมถึงปัญหาเยาวชน ชี้ให้ผู้ปกครอง เห็นว่าการที่เขาพลาดจากตรงนี้ กลายเป็นทำให้เยาวชนขาดโอกาสการเรียนและขาดโอกาสหลายอย่าง เราได้เปรียบเพราะเราเป็นผู้นำชุมชนเองด้วย สื่อประชาสัมพันธ์เราเลยใช้ได้เต็มที่ ใส่ข้อมูลให้เขาตลอด"


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


จากนั้น อุบล จึงเริ่มจากพัฒนาเยาวชนเป็นแกนนำ โดยนำเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ มาปรับความประพฤติใหม่จนสุดท้ายเขา กลายเป็นผู้ที่เชื่อมกระบวนการไปสู่ครอบครัว


"แต่เราเน้นบูรณาการเพราะทำแค่เฉพาะชุมชนเดี่ยว สสส.ทำอย่างเดียว การทำเดี่ยวทำให้ไม่มีใครมาร่วม มันเหมือนการทำงานคนเดียว"


แม้ช่วงแรกๆ ที่ทำโครงการมีการต่อต้านนิดหนึ่ง เพราะชุมชนเป็นชุมชนแออัดที่มีคนดื่มค่อนข้างเยอะ แต่หลังคนในชุมชนเห็นกระบวนการ ที่ทำต่อเนื่องและ ทำได้ดี มีกิจกรรมมีคนมาร่วมเยอะ วันนี้ ชุมชนเริ่มเข้าสู่กระบวนการ ที่คนส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจและคนหยุดดื่ม ซึ่งมีทั้งคนใหม่และคนเก่าเข้ามาร่วมโครงการต่อเนื่อง


"คนเก่าเราต้องรักษาคนเก่าที่เขาทำดี อยู่แล้วยังไงให้เขาทำต่อไป เรามีเทคนิค คือดึงให้เขาเป็นคนชวนคนอื่นต่อ ซึ่งเขาก็ต้องทำตัวอย่างให้คนอื่นเห็นก่อน เขาจะไม่กล้ากลับไปดื่ม ผมใช้กระบวนการให้กำลังใจตลอด กับผู้เข้าร่วมโครงการ และประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นของรางวัลเป็นแรงบันดาลใจ ความภูมิใจให้เขา เวลาเราทำ เราทำเวทีเปิดให้ทุกคนรอบข้างได้เห็นเพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจได้เอง"


บันทึกเรื่อง 'เหล้า' ที่ 'เล่า' ไม่มีวันจบ thaihealth


ปัจจุบันมีคนที่เลิกได้ 50 กว่าคน  แต่เข้าร่วมมีเยอะกว่านั้น มีทั้งคนใจหิน ที่เลิกได้ช่วงเข้าพรรษา ไปจนถึงคนใจเพชรที่เลิกเหล้าตลอดชีวิต หนึ่งในนั้นคือตัวเขา


"อย่างหัวใจหินเราต้องให้กำลังใจเขาเยอะนิดหนึ่ง เพื่อให้กำลังใจเขาเป็น แรงผลักดันไปสู่ หัวใจเหล็ก และหัวใจเพชร ผมไม่เน้นทำเข้าพรรษาอย่างเดียว เพราะมานั่งคิดว่าทำแค่เข้าพรรษาอย่างเดียวมันไม่ต่อเนื่อง ไม่มีผลกับผู้ที่ดื่มเรื้อรังหรือ ติดสุรา ผมจึงใช้กระบวนการตรวจสุขภาพค่อยให้เขาลดจะเลิกได้"


ชุมชนเริ่มจากเวทีกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ระดมคนที่สมัครใจเข้ามาประกาศตัวตนเข้าโครงการ


"เคล็ดลับของเราคือ ถ้าเรามีกิจกรรมให้เขาทำต่อเนื่องเขาเพลิดเพลิน เขาจะไม่กลับไปหาตรงนั้น แล้วเราจับจังหวะเวลาให้เป็น ผมเคยดื่ม จะรู้ว่าคนจะดื่มเวลาไหน นั่นแหละคือเวลาที่เราจะจัดกิจกรรม พอเขาเพลิดเพลินลืมตัวก็เลยเวลาไปแล้ว ทีนี้โอกาสจะมาดื่มก็น้อยลง"


"ทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ เมื่อก่อนเดินไปทางไหน ตรงนี้ก็ต้องตั้งวง ตรงนั้นก็ตั้งวง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว เวลาจะดื่มเขาแอบไปดื่มในบ้านแทน เพราะเราใช้มาตรการสังคมบังคับ มีการใช้ พรบ.เข้ามาควบคุมเรื่องเวลาการซื้อขาย การไม่ขายให้เยาวชน"

Shares:
QR Code :
QR Code