บัณฑิตอาสาภาคใต้ กุญแจความรู้สู่ชุมชน

 

บัณฑิตอาสาภาคใต้  กุญแจความรู้สู่ชุมชน

“…การศึกษาคือการหาความรู้ ความรู้นั้นก็มีความรู้ทางวิชาการส่วนหนึ่ง คือความรู้ที่จะนำไปเป็นอาชีพต่อไป ปฏิบัติงานต่อไป ความรู้อีกอย่างหนึ่งคือ ความรู้ในชีวิต หรือในจิตใจของตัวและในจิตใจของผู้อื่น ความรู้ทั้งสองอย่างนี้ต้องประกอบกัน…”

นั่นคือพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานให้แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) รุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งหากจะกล่าวว่า โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-(บอ.มอ.) ที่เปิดโครงการมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ถือเป็นการดำเนินการตามแนวพระบรมราโชวาทข้างต้นก็คงไมผิดนัก เพราะไม่เพียงแต่ความรู้ทางวิชาการที่บัณฑิตต้องมี แต่โครงการดังกล่าวยังมุ่งหวังที่จะให้บัณฑิตร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมด้วย

“นางวัลภา ฐาน์กาญจน์” ผู้ประสานงานโครงการบัณฑิตอาสาฯ เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ บอ.มอ.ซึ่งปัจจุบันเปิดรับสมัครเป็นรุ่นที่ 7 แล้วว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใน มอ. โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่าสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้เริ่มมีความรุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ส่งผลให้นักวิชาการลงพื้นที่เพื่อเข้าไปเหลือชุมชนด้วยความยากลำบาก

บัณฑิตอาสาภาคใต้  กุญแจความรู้สู่ชุมชน

“เราได้คิดร่วมกันว่า หากมีบัณฑิตอาสาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้มาทำหน้าที่ช่วยเหลือนักวิชาการในการประสานกับชุมชนก็จะสามารถดูแลเรื่องสุขภาพของชาวบ้านในชุมชนได้ โดยเฉพาะพื้นที่ในก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องแม่และเด็กที่ยังมีปัญหาการขาดสารอาหาร บัณฑิตอาสาจะเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงกับชุมชน ทำให้เราสามารถรับรู้โจทย์ที่เป็นปัญหาของชุมชนได้ โครงการบัณฑิตอาสาฯ จึงได้เริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้” นางวัลภา

ผู้ประสานงานโครงการบัณฑิตอาสาฯ กล่าวอีกว่า โครงการบัณฑิตอาสาฯ ที่เปิดดำเนินการรุ่นแรกนั้น เปิดรับสมัครโดยผู้สมัครร่วมโครงการต้องเป็นบัณฑิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ในรุ่นต่อมาได้รับบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดเข้าร่วมโครงการ กระทั่งในรุ่นที่ 6 ได้ขยายรับบัณฑิตจากสถาบันทั่วประเทศแต่ขอให้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และสำหรับรุ่น 7 ที่อยู่ระหว่างการรับสมัครนั้น เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรีทุกสาขาจากทั่วประเทศโดยไม่จำกัดภูมิลำเนา ซึ่งในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสาฯ 3 เดือนแรก บัณฑิตอาสาจะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 5,000 บาท ลังจากนั้นจะเป็นอัตราเงินเดือนสำหรับระดับวุฒิปริญญาตรี พร้อมทั้งมีค่าน้ำ ค่าไฟ ประกันอุบัติเหตุและประกันสังคมให้ด้วย โดยโครงการบัณฑิตอาสาฯ จะหาครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่ที่บัณฑิตอาสาลงไปทำงานให้บัณฑิตอาสาได้พักอาศัยอยู่ด้วย เมื่อสิ้นสุดโครงการบัณฑิตอาสาฯ จะได้รับประกาศนียบัตรจาก วพส. และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้นได้ด้วย

“นอกจากบัณฑิตอาสาฯ จะช่วยเชื่อมโยงนักวิชาการกับชุมชนแล้ว ชุมชนยังช่วยสร้างบัณฑิตควบคู่ไปด้วย เพราะการพัฒนาบัณฑิตต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในชีวิต ต้องฝึกเรื่องการปรับตัว ความอดทน เปิดมุมมองใหม่ๆ เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนอื่น ซึ่งสิ่งที่ตอบรับกลับมาจากชาวบ้านนั้น เขามองว่าบัณฑิตอาสาเหมือนกุญแจไขความรู้ที่จะนำความรู้เข้าไปหมู่บ้านเขา เป็นสะพานเชื่อมโยงศักยภาพของชุมขน ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมคิด ร่วมทำ และรู้จักประสานกับส่วนอื่นๆ ได้” นางวัลภากล่าว

บัณฑิตอาสาภาคใต้  กุญแจความรู้สู่ชุมชน

“นายอิสมาแอ มาหะ” บัณฑิตอาสารุ่นที่ 6 ในวัย 23 ปี ซึ่งลงไปทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า หลังจากที่สมัครเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสา เขาได้ลงไปประจำในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้ทำเรื่องสภาเด็กและเยาวชนตำบลเกาะลันตาขึ้น ซึ่งแต่เดิมพื้นที่เกาะลันตามีสภาเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว แต่ขาดการทำงานที่เป็นระบบและต่อเนื่อง

“ผมได้คัดเลือกเด็กในพื้นที่เข้ามาร่วมประชุมสภาใหม่ โดยคัดเด็กตำบลละ 2 คน 10 ตำบลได้ตัวแทนเด็กในพื้นที่มา 20 คน  จัดการประชุมสภาเด็กฯ จัดอบรมการพูด การแสดงออก อบรมการเขียนโครงการ และมาประชุมร่วมกันว่าพวกเขาอยากให้ชุมชนที่เขาอยู่มีการพัฒนาอย่างไร แต่ละชุมชนมีปัญหาอะไร เรามาถอดบทเรียนร่วมกัน ทำให้เด็กได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ปัญหาในชุมชนที่เขาอยู่ จากแต่เดิมที่การทำงานอะไรจะเป็นการคิดจากผู้ใหญ่แล้วส่งมาให้เด็กทำ ทำให้เด็กไม่อยากทำเพราะมันไม่ได้เริ่มจากตัวเขา กลายเป็นทุกคนกระตือรือร้นนำเสนอปัญหาและร่วมกันหาทางออกเพื่อชุมชนของเขา เป็นการขับเคลื่อนสร้างชุมชนให้น่าอยู่และปลอดภัยผ่านทางเครือข่ายเด็กและเยาวชนที่ได้ผลดีอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย”

นายอิสมาแอ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เขาได้จากการร่วมเป็นบัณฑิตอาสาฯ ทำให้เขาได้พัฒนาตนเองตั้งแต่กระบวนการวางแผน ออกแบบการทำงาน รวมไปถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การติดต่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ที่สำคัญทำให้เขาได้ทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชน และเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดีขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ บอ.มอ.ติดต่อสอบถามได้โดยภาคใต้ตอนบนที่ มอ.วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี โทร. 0-7735-5454 ต่อ 2080,หรือ 089-466-8562 ภาคใต้ตอนกลาง ที่ มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่ โทร.0-7445-5149 หรือ 081-187-7804 ภาคใต้ตอนล่างที่ มอ.วิทยาเขตปัตตานี โทร.0-7333-1458 หรือ 089-658-9025 ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://volunteer.psu.ac.th หรือ www.rdh.psu.ac.thเปิดรับสมัครถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 นี้

 

ที่มา: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ teamcontent www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code