‘บัณฑิตคืนบ้านนา’ มุ่งพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส.


'บัณฑิตคืนบ้านนา' มุ่งพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ยั่งยืน thaihealth


จากพนักงานบริษัทเอกชน รายได้งามในเมืองกรุง แรงบันดาลใจ เล็กๆ กลับเริ่มก่อตัวขึ้น ครั้งหวนมาเยี่ยมบ้านเกิด ณ ดินแดนที่ราบสูง ความคิดสุขใดจะจริงแท้เท่าอยู่บ้าน คือพลังแปรเปลี่ยนผืนนาว่างเปล่ากว่า 30 ไร่ในวันวาน ให้กลายเป็นป่าชุมชนคุณค่าอนันต์


"ผมเป็นอีกคนที่เฝ้าครุ่นคิดว่าความมั่นคง อิสระ และความสุขในชีวิตนี้คืออะไร จนกระทั่งได้มาเจอคำตอบนี้จากพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ "ในหลวง ร.9" มาลองปรับและปฏิบัติจริง" คำนึง เจริญศิริ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ปี 2562 กล่าวในการลงพื้นที่ เวที โชว์ แชร์ เชื่อม : "สุข4Gวิถีไทย ร่วมกันเราทำได้" โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้


คุณหนึ่ง เล่าต่อว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ตนเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพ ได้รับโอกาสมากมายในสาขาอาชีพ  แต่ความคิดจะใช้ชีวิตในเมืองกรุงก็จบลงไป หลังมีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่ บ.ตามา ต.ชุมแสง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตัวอย่างเกษตรกรรมที่พ่อคำเดื่อง ลงมือทำให้เห็น ทำให้ตัดสินใจละทิ้งหน้าที่การงาน เพื่อกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่ง กับการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยไม่รู้ชะตากรรมว่าจะรุ่งหรือจะร่วง รู้แค่ต้องตั้งหน้าตั้งตาศึกษาทรัพย์ในดินให้เกิดความชำนิชำนาญ โดยไม่คิดถึงรายได้ให้กังวลใจ เพราะสิ่งที่คาดหวังคือการลบภาพรถไถ เครื่องจักรกลการเกษตรออกไป และอยากให้คนในหมู่บ้านมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน จึงเริ่มต้นเปลี่ยนผืนนาอันแห้งแล้งให้กลายเป็นบ่อปลา เล้าหมู แปลงพืชผักสวนครัว แปลงเพาะพันธุ์ กล้าไม้ และปลูกไม้ยืนต้นให้ร่มเงา มีวัตถุดิบให้ประกอบอาหารเลี้ยงครอบครัวทุกมื้อ เหลือเก็บก็ขาย แต่ที่เหนือความคาดหมาย คือพบว่ายิ่งนานวันต้นไม้ที่ปลูกบนพื้นที่ 30 ไร่กลับยิ่งทวีมูลค่ามากขึ้น จนเรียกได้ว่าชีวิตนี้ไม่มีทางอดตายแน่นอน


ทุกวันนี้ 'บ้านหนึ่ง' กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนทั่วสารทิศ และยังเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านบ้านตามาหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานเลี้ยงชีพ สุขภาพก็ดีขึ้นเพราะไม่ต้องพึ่งสารเคมี แถมไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินให้นายทุนหรือ เจ้ามือในบ่อนพนันอีกต่อไป


'บัณฑิตคืนบ้านนา' มุ่งพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ยั่งยืน thaihealth


ด้าน จิณพร ดีรบรัมย์ หรือเอม เกษตรกรสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ อีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่หลายคนต้องยกย่องความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เธอคือผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่กล้าตัดสินใจเดินออกมาจากเซฟโซน จากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของภาคอีสาน ได้ทุนเรียนต่อถึง ป.เอก แต่กลับเลือกทิ้งสิ่งที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน


หลังต้องใช้ความอดทนมากมายเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้แม่เห็น ว่าการทิ้งปากกามาจับจอมเสียมดีกว่าอย่างไร เริ่มจากการทำเกษตรบนพื้นที่ 6 ไร่ของน้าชาย แต่ก็ต้องสะดุดล้ม เพราะกำลังกายที่มีสวนทางกับขนาดของพื้นที่ที่กว้างมากไป เธอจึงคิดได้ว่า การทำอะไรที่พอดีตัวน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า จากที่เคยปลูกพืชผักออร์แกนิกก็ต้อง เปลี่ยนแนว เพราะยุคนั้นคนยังไม่นิยมกิน และเธอก็ไม่มีตลาดเป็นของตัวเอง ซึ่งครั้งนี้เองที่เธอได้นำองค์ความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาใช้ประโยชน์จริง ด้วยการหันมาทำเมล็ดพันธุ์แท้ขายผ่านทางออนไลน์ เมล็ดพันธุ์แท้ของเธอดีต่อเกษตรกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลงทุนไม่มีวันจบ เพราะเมล็ดพันธุ์แท้ทนต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อแมลงและโรคต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการผลิต เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลูกไว้เป็นเชื้อพันธุ์ต่อไปได้


บุรีรัมย์ มีจุดเด่นชัดเจนในเรื่องการทำเกษตรกรรมอย่างเข้มแข็ง มีเกษตรกรต้นแบบหลายคนที่พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกภายนอก และที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือที่นี่มีองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา และที่นี่ยังมีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็ง ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ความสุขเกิดจากการได้อยู่ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน ถือเป็นการสร้างสังคมสุขภาวะตรงตามที่ สสส. นิยามไว้


'บัณฑิตคืนบ้านนา' มุ่งพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ยั่งยืน thaihealth


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า "ประเด็นที่ สสส.จะช่วยเสริมทัพบุรีรัมย์ให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม คือการประสานเครือข่ายใหม่ ๆ ให้เกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานข้ามประเด็นที่นอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหารและป่าชุมชน แต่ในอนาคตจะต้องขยายการสร้างเสริมสุขภาพในองค์รวม ทั้งเรื่องเหล้า บุหรี่ การออกกำลังกาย และอื่น ๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน"


ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สสส.ได้ดำเนินการจัดเวที โชว์ แชร์ เชื่อม ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อประสานภาคีเครือข่ายที่มีความถนัดด้านต่าง ๆ ให้มาพบปะ แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานในพื้นที่จนเกิดเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น การจัดเวที ครั้งนี้ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และการปลูกป่าชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ โดยได้มีการเชิญภาคีเครือข่ายจากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์รวมกว่า 70 คน โดยเจ้าบ้านจังหวัดบุรีรัมย์เป็น พี่เลี้ยงแนะแนวทางวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่


เวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ครั้งนี้  เป็นอีกหนึ่งพื้นที่รับฟัง สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคีเครือข่าย สสส. และมีแนวทางเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไปอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code