บัญญัติ 10 ประการผู้นำที่ดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


บัญญัติ 10 ประการผู้นำที่ดี thaihealth


แฟ้มภาพ


เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัย และพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายอีกหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น "วาระ : ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี


บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้คน ทั้งที่มาจากภาครัฐคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน-ผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศมารวมตัวกันเนืองแน่นนับพันคน ซึ่งนอกจากจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาพันธมิตรเครือข่ายสร้างพลังชุมชนแล้ว ยังได้รับฟังข้อคิดดีๆ มากมาย โดย "ที่นี่ แนวหน้า" ขอเลือกข้อคิดจาก สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล (ทต.) ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ว่าด้วย "คุณลักษณะของผู้นำชุมชนท้องถิ่น ที่พึงประสงค์" มาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันคุณสุริยา กล่าวถึง "บัญญัติ 10 ประการของการเป็นผู้นำที่ดี" ประกอบด้วย 1.มองประโยชน์ ผู้อื่นสำคัญกว่าตนเอง เรื่องนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ถ้าผู้นำตั้งใจทำงานเพื่อชุมชนส่วนรวมจริงๆ ย่อมได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนหมู่มาก ตรงกันข้ามกับผู้นำที่มาแล้วมุ่งหวังผลประโยชน์ของตนเองอย่างเดียวย่อมอยู่ได้ไม่ยืนยาว และเมื่อพ้นจากสถานะผู้นำไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาได้อีก


2.รับผิดชอบต่อหน้าที่ เมื่อได้เป็นผู้นำแล้วก็ต้อง แสดงให้เห็นว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนหรือสังคมอยู่ดีมีสุข เช่น ตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องดูแลประชากรทุกกลุ่มตั้งแต่ เด็กจนถึงผู้สูงอายุ 3.ซื่อสัตย์สุจริต การดำเนินโครงการ ที่ใช้จ่ายงบประมาณจากเงินลงขันของส่วนรวม หากสามารถ ทำให้สังคมเห็นว่าทำอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็ไม่ต้องกลัวการตั้งข้อสังเกตจากใครทั้งสิ้น


"จากประสบการณ์การทำงานเป็นนายกเทศมนตรี บนพื้นฐานการให้ประชาชนได้เห็นตั้งแต่กระบวนการจัดทำแผน การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เรา เปิดเผยหมด ตั้งแต่ผมเข้าไปทำงานเมื่อปี 2542 กระทรวง มหาดไทยยังไม่กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องมีกรรมการ จากภาคประชาสังคม ผมตั้งมาตั้งแต่ตอนนั้น ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราจะทำอะไรเพื่อความปลอดภัยของตัวเองคือต้องให้คนอื่นรู้เห็น


เมื่อเขารู้เห็นว่าเราทำโดยความซื่อสัตย์สุจริต แน่นอนที่สุดย่อมเป็นเกราะกำบังให้เรา ไม่ต้องกลัว สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) หรือหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ของภาครัฐจะมาบั่นทอนกำลังใจการทำงาน บั่นทอนความ รับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของเรา เราก็จะสามารถเดินหน้า ขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัย" นายกเทศมนตรี ทต.ปริก กล่าว


4.มีคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะการดำเนินการ เรื่องต่างๆ ที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ 5.สร้างการยอมรับผู้นำจะอยู่ได้ต้องได้รับความเชื่อมั่นจากสังคม อย่างไรก็ตาม หากทำงานโดยตั้งอยู่ในหลัก 4 ข้อแรกข้างต้นอย่าง ต่อเนื่อง การยอมรับจากสังคมย่อมตามมาเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้าง 6.ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อเท็จจริงจะทำโครงการอะไรต้องมาจากการประเมินข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ เพื่อให้โครงการที่ผลักดันออกมาสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด


7.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การได้แต่ลอกเลียน ตามคนอื่นอย่างเดียวคงเป็นผู้นำที่ไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะ โลกยุคปัจจุบันที่มีความผันผวนด้านต่างๆ ค่อนข้างสูง การ ติดตามข้อมูล ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้รู้เท่าทัน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมได้ แต่นอกจากความรู้แล้วผู้นำยังต้องมีจินตนาการด้วย ดังตัวอย่างโครงการ "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ที่เกิดจากแนวคิดของ ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในการสร้างสนามเด็กเล่นที่ทำให้เด็กๆ ทั้งสนุกสนานและส่งเสริมทักษะชีวิตไปพร้อมกัน


"แต่เดิมถ้าจะให้เด็กไปเล่นน้ำเราจะให้เล่นในสระสี่เหลี่ยม มีลู่สำหรับการแข่งขัน แต่พอเล่นสระน้ำกลมๆ เด็กมันเล่นโดยที่ไม่มีสิ่งบอกว่าจะต้องแข่งขันไปให้ถึงเส้นชัย มันทำให้เด็กเกิดความรักกัน เกิดความสมัครสมานกัน ช่วยกันเล่นด้วยกันสนุกด้วยกัน ไม่มีการแย่งว่าฉันต้องไปถึงเส้นชัยก่อน เราไปเปลี่ยนความคิดของเด็กจากการเรียนการศึกษาที่นำไปสู่การแข่งขัน มันทำให้เด็กคิดว่าการอยู่ร่วมกันทางสังคมมันสัมพันธ์กับการแข่งขัน


การเป็นผู้นำก็เช่นกัน มันต้องมีความคิดริเริ่มในเชิงสร้างสรรค์ว่าเราที่อยู่ร่วมกันในสังคม เรื่องของการแข่งขันมันน่าจะพอแล้ว จะทำอย่างไรให้ประคองสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน ก้าวไปด้วยกัน เดินไปข้างหน้า ด้วยกัน แก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การจินตนาการ การวิเคราะห์ปัญหา ถือเป็นความสำคัญ ของผู้นำท้องถิ่นที่ต้องรู้เท่าทันปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี" คุณสุริยา ยกตัวอย่าง 8.สร้างคนรุ่นใหม่มาทดแทน เพราะอย่างไรเสียผู้นำก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่อาจอยู่ยงคงกระพันค้ำฟ้าไปตลอดกาล ดังนั้นต้องสร้างให้คนอื่นๆ มีบทบาทมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสามารถทำได้ เช่น เมื่อครั้งเริ่มโครงการสร้างผู้นำชุมชนรุ่นในพื้นที่ ทต.ปริก ระยะแรกๆ ชาวบ้านหลายคนไม่กล้าแสดงออก มีอะไรก็ยกให้เทศบาลทำหรืออย่างดีที่สุดคือขอช่วยงานเบื้องหลัง แต่เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วก็กล้าที่จะขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นหรือสะท้อนปัญหา และความต้องการต่อหน้าสาธารณชน มีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้นำการพัฒนาของชุมชนได้


9.สร้างเครือข่าย เพราะงานใหญ่ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยมือคนคนเดียว ต้องอาศัยแรงพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่หรือองค์กร และ 10.มีแนวทางที่ชัดเจน ว่าจะพัฒนาองค์กรหรือพื้นที่อย่างไร ไม่ใช่เห็นกระแสอะไรมาก็ทำตามไปก่อน เรื่องของการออกแบบ วางแผน และนำแผนที่วางไว้ไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นทักษะสำคัญของผู้นำหรือผู้บริหาร


ทั้ง 10 ข้อนี้แม้จะเป็นการกล่าวในเวทีประชุม ผู้บริหาร อปท. รวมถึงผู้นำชุมชนท้องถิ่น แต่ก็สามารถ นำไปเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคนเป็นผู้นำทุกระดับได้เช่นกัน..ว่าแล้วท่านทั้งหลายที่มีบทบาทเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ก็ขอให้ลองสำรวจตนเองดูว่า มีครบทุกข้อแล้วหรือยัง?

Shares:
QR Code :
QR Code