บอกลาแชมป์สายเมา ‘พะเยา ‘วาระจังหวัด ‘ลดนักดื่ม’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
กลายเป็น "วลีฮิต" ของยุคนี้ไปแล้วกับ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ให้อวัยวะสำคัญอย่าง "ตับ" ได้พักผ่อนพักฟื้นเสียบ้าง หลังถูกใช้งานหนักในการกำจัดสารแปลกปลอมต่างๆ โดยเฉพาะ "แอลกอฮอล์" ออกจากร่างกาย ซึ่งประเทศไทยก็จัดเป็น "สังคมนิยมเมา"อยู่มากพอสมควร ดังรายงานของ องค์การ อนามัยโลก (WHO) ในปี 2557 ระบุว่า คนไทยบริโภคน้ำเมาเป็นอันดับที่ 78 ของโลก เฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคน
เช่นเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ พบว่า พะเยา ครองแชมป์ "จังหวัดสายเมา"มีประชากรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุด ในประเทศต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งปี 2560 เองที่เพิ่งจะประกาศว่าคนพะเยาสามารถ "หลุดพ้น" จากอันดับ 1 ที่ไม่มีใครอยากได้เป็นผลสำเร็จ โดยการเปิดเผยของ ว่าที่ ร.ต.สมัย คำชมพู ปลัดจังหวัดพะเยา อ้างอิงรายงาน "สำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน" (จปฐ.)ของสำนักงานพัฒนาชุมชน ในปี 2558 พบว่า หัวข้อ "ครัวเรือนไม่ดื่มสุรา" (ยกเว้นการดื่ม เป็นครั้งคราว) จำนวนคนดื่มใน จ.พะเยา "ลดลง" มาอยู่ในอันดับที่ 25
"แนวหน้าวาไรตี้" ติดตามคณะของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ จ.พะเยา ไปดูที่มาที่ไป ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ซึ่ง ว่าที่ ร.ต.สมัย กล่าวว่า ตัวแปรที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ "ชุมชน" อาทิ การใช้มาตรการของประชาคมหมู่บ้าน ต้องมีหนังสือรับรองการประชุมจากหมู่บ้านก่อนจึงจะสามารถตั้งโรงกลั่นสุราชุมชนได้ และสานต่อกิจกรรมการรณรงค์ ต่างๆ ที่มีอยู่เดิม เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าในงานศพ ให้มีความต่อเนื่องและ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผลจากการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว "พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรม" ซึ่งแตกต่างไปจากพื้นที่ที่ไม่มีการรณรงค์ในด้านต่างๆ ได้แก่ มีการทำงานเป็นทีม ชุมชนตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา เกิดมาตรการทางสังคมโดยชุมชนหรือ "กฎหมายชาวบ้าน" มีผู้นำต้นแบบเลิกเหล้า มีบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า มีการปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกฎหมายต่างๆ อย่างเข้มข้นและเข้มงวดมากขึ้น
"การห้ามจำหน่ายสุราแก่ผู้มีอายุ ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การห้ามจำหน่ายสุราในเวลาที่ห้ามตามกฎหมาย การบังคับให้ผู้จำหน่ายสุรากลั่นชุมชนต้องติดอากร แสตมป์ และการห้ามดื่มสุราในวัด สถานศึกษา และสถานที่ราชการอย่างเด็ดขาด ซึ่งแต่เดิมมีการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ก็มีการปล่อย ปละละเลยบ้าง ในบางกรณีเทศกาลงานสำคัญ"ปลัดจังหวัดพะเยา กล่าว
เช่นเดียวกับแนวร่วมภาคการเมือง อรุณี ชำนาญยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พะเยา (พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย) ปัจจุบันใช้เวลาช่วง "เว้นวรรค" จากเวทีการเมือง ลงพื้นที่ทำงานในฐานะภาคประชาชน กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเสนอให้ตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดพะเยา" ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาทุกด้านอย่างเป็นระบบ เกิดเป็น "มาตรการ 3 ม."คือ มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางการปกครอง และมาตรการทางสังคม ที่ต้องใช้พร้อมกันไป
"ผลที่ได้คือมีพื้นที่ 9 อำเภอ 66 ตำบล 805 หมู่บ้านที่ลด ละ เลิกเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ สามารถลดจำนวนโรงกลั่นสุรา จากทั้งหมด 270 โรง ลดลงเหลือเพียง 158 โรง มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการงดเหล้า ในวันพระ จำนวน 540 ร้าน จาก 2,100 ร้าน และในปี 2559 สามารถจัดงานศพปลอดเหล้า ได้ร้อยละ 84 ถามว่ากลัวหรือไม่ที่มาทำงานเรื่องงดเหล้า สำหรับเราเชื่อว่าทำงานแบบนี้แล้วได้กุศล ได้ช่วยเหลือคน จึงไม่กลัวเรื่องของคะแนนเสียง แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อทำเรื่องนี้ไปจนสำเร็จ กลับได้คะแนน เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย" อดีต สส.พะเยา ระบุ
ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยา กลายเป็น "หน่วยงานเฉพาะกิจ" เพราะในประเทศไทยขณะนี้มีเพียงพะเยาจังหวัดเดียวที่ตั้งทีมงานลักษณะนี้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ขับเคลื่อนด้วย ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1.สร้างคณะทำงานและเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมต่อคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด 2.สร้างทีมวิทยากร ให้มีทักษะกระบวนการแก้ไขปัญหา 3.พัฒนาทีมสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุเชิงสร้างสรรค์สังคม 4.ควบคุมการผลิตและจำหน่าย สุราชุมชน สุราเถื่อน จัดโซนนิ่ง มีมาตรการภาษี และกำหนดพื้นที่ปลอดเหล้า มากขึ้น และ 5.พัฒนาชุมชน ให้เกิดเครือข่าย ที่เข้มแข็งลดปัจจัยเสี่ยง และเปลี่ยนและคัดเลือก คนต้นแบบ หมู่บ้านต้นแบบ และส่งเสริม การศึกษาวิจัยในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้อย่างยั่งยืน "ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญ"พร้อมกับกำหนดนโยบายเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน
"สิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญคือ การร่วมรับฟังความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ ซึ่งทำให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่ชุมชนไม่สามารถจัดการเองได้ เช่น กรณีปัญหาการบริโภคสุราเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน และ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในเวทีต่างๆ ได้เสนอให้มีการยุบโรงกลั่นสุราชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ของปัญหา ทั้งนี้ภาคประชาสังคม ถือเป็นกลไก สำคัญที่เชื่อมประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"อดีต สส.พะเยา กล่าวย้ำ
ด้าน ประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวเสริมว่า เมื่อมาทำงานที่จังหวัดพะเยา และรู้ว่าเป็นจังหวัดที่มีคนดื่มมากที่สุดของประเทศ เป้าหมายแรกเราจึงตั้งเป้าว่า "จังหวัดพะเยาจะต้องไม่เป็นอันดับ 1 เหมือนที่เป็นมา" ส่วนเป้าหมายรองลงมาที่ต้องทำกันคือ 1.งานบุญปลอดเหล้าต้องทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 2.นำประเด็นเรื่องแอลกอฮอล์เข้าสมัชชาทุกปี โดย บูรณาการทำงานร่วมกับประเด็นอื่นๆ 3.โรงกลั่น สุรามีมาตรฐาน และควบคุมไม่ให้เพิ่มจำนวน และ 4.ปรับปรุงกว๊านพะเยา ให้เป็นเขต ปลอดเหล้า
รวมถึงต้องทำความเข้าใจว่า "คนดื่ม แอลกอฮอล์ไม่ใช่คนไม่ดีทั้งหมด" เพราะถ้าไป "ตีตราบาป" คนเหล่านี้ไว้ก่อนแล้ว การขับเคลื่อน การทำงานจะเป็นไปได้ยาก ภาครัฐอย่างจังหวัด จะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน เพื่อให้คณะทำงานขับเคลื่อนการ ทำงานไปตามนโยบายได้ และสร้างความเชื่อมั่น ให้กับภาคประชาชนอีกทางหนึ่ง และทำให้การ ทำงานเกิดความยั่งยืน
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2558 "ภาคเหนือ" เป็นพื้นที่ที่คนดื่มเครื่องดื่มมึนเมา มากที่สุดถึงร้อยละ 39.4 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 37.2, ภาคกลาง ร้อยละ 30.2 , กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.3 และ ภาคใต้ ร้อยละ 20.2 ซึ่งส่งผลกระทบ ทั้งต่อครอบครัวและสังคม
"จังหวัดพะเยาถือเป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นผลอย่างเป็น รูปธรรม" รองผู้จัดการ สสส. กล่าวทิ้งท้าย