บอกลาพฤติกรรม `กินหวาน`
แฟ้มภาพที่มา : กรุงเทพธุรกิจ โดย อรรถภูมิ อองกุลนะ
แฟ้มภาพ
บอกลาพฤติกรรม 'กินหวาน' ขั้นเด็ดขาด รับกฎหมายเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ก่อนสังคมไทยจะเจอกับอีกสารพัดโรคเพราะบริโภคหวานเกินพอดี
'สายกิน' หรือ 'สายแข็ง' คงต้องหลบ เพราะหากเดินสำรวจแผงค้าเป็นอันต้องผงะถึงบรรดาอาหาร 'สายหวาน' ซึ่งวางเรียงรายให้เลือกซื้อ ยิ่งเฉพาะกับร้านค้าใกล้สถาบันการศึกษา ซึ่งคึกคักไปด้วยขนมคบเคี้ยว อันมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมแบบเกินลิมิต ไล่ตั้งแต่ ร้านขนมเค้ก ขนมโตเกียว ชาไข่มุก ขนมปังปิ้ง ลูกอม ฯลฯ ไม่เว้นกระทั่งน้ำจิ้มของไส้กรอก-ลูกชิ้นปิ้งที่ยังต้อง 'ติดหวาน' เอาใจคุณลูกค้านักเรียนขาสั้น
'หวาน' กันแต่เด็ก
ใครๆ ก็รู้ เราหาขนมหวานรับประทานกันไม่ยาก ทพญ. ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รวบรวมข้อมูลภายหลังสำรวจร้านเครื่องดื่มและขนมบริเวณรอบๆ และในโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กว่า ในบริเวณใกล้โรงเรียนมีการวางจำหน่ายขนมถุงที่มาจากการผลิตในระดับอุตสาหกรรมใหญ่ และขนมจากผู้ผลิตรายย่อยรวมกันแล้วกว่า 2,465 รายการ ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจร้านเครื่องดื่มพบว่า นิยมขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะน้ำอัดลมและ น้ำหวานกลิ่นผลไม้
เมื่อสำรวจการบริโภคน้ำตาลของเด็กนักเรียนชั้นเด็กเล็กและประถม ในปี 2557 พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 ช้อนชา/คน/วัน เกินกว่าค่ามาตรฐานซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 ช้อนชาต่อวัน โดยการบริโภคน้ำตาลแบบที่ว่านั้นเป็นไปใน 2 รูปแบบคือในรูปแบบที่มองเห็น และมองไม่เห็น ซึ่งมีอัตราส่วนอยู่ที่1 ต่อ 1
"นั่นหมายถึงว่า นอกจากน้ำตาลแบบที่เขาเห็นและตักใส่อาหารแล้ว ยังมีน้ำตาลที่อยู่ในรูปขนม ลูกอม เครื่องดื่ม ซึ่งเด็กบริโภคอีกหนึ่งส่วน และเมื่อลงรายละเอียดของพฤติกรรมเด็กไทยพบว่า กินขนมเฉลี่ยประมาณ 2-3 ครั้งหรือ 2-3 ถุงต่อวัน ดื่มน้ำอัดลมประมาณ 1 กระป๋อง เมื่อคำนวณจาก 2 แหล่งนี้รวมกัน ใน 1 วัน เด็กจะได้รับน้ำตาลจากน้ำอัดลม 7.4 ช้อนชา บวกกับน้ำตาลที่ได้จากขนมอีกประมาณ 2-3 ช้อนชา พฤติกรรมการกินรสหวานจึงเป็นเรื่องที่เขาคุ้นเคยมาแต่เด็ก" ผู้เก็บข้อมูลการบริโภคในกลุ่มนักเรียนบอก
สง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งติดตามประเด็นด้านโภชนาการมาตลอด ให้ข้อมูลว่า รสหวานเป็นสัมผัสแรกของมนุษย์ที่จดจำได้ จึงทำให้เด็กมีความชื่นชอบอาหารที่มี รสหวาน อย่างไรก็ตามหากพฤติกรรมการกินของคนไทยระหว่างอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันนิยมบริโภคขนมและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า เช่น นิยมกินขนมเค้ก การดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมชาเขียวพร้อมๆ กับอาหารในแต่ละมื้อมากขึ้น ซึ่งความนิยมส่วนหนึ่งมีผลมาจากการตลาด โปรโมชั่นสินค้า รวมไปถึงภาพลักษณ์ที่ผู้ซื้อซึ่งสัมผัสได้จากกลยุทธ์โฆษณา ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ออกแบบ และสื่อให้ภาพลักษณ์ของสินค้ามีความ ทันสมัยการมอบของสมนาคุณเมื่อซื้อสินค้า และทั้งหมดส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การกินของแต่ละคน
พฤติกรรมการกินหวานของคนไทยในปัจจุบันจึงถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ผสมกับการรับข้อมูลจากการโฆษณา เหตุนี้สังคมไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันเป็นพลพวงมาจากการบริโภคน้ำตาลที่เกินพอดี ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด ฯลฯ
สำหรับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลนั้น อยู่ที่การบริโภคไม่เกิน 37.5 กรัมต่อวันหรือ 9 ช้อนชาในเพศชาย และไม่เกิน25 กรัม หรือ 6 ช้อนชาในเพศหญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วย ขณะที่คนไทยมี ค่าเฉลี่ยมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 20 ช้อนชาต่อวัน หรือเกือบ 80-100 กรัม ซึ่งอธิบายได้ว่า คนไทยกินหวานกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ประมาณวันล่ะ 2-3 เท่า
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องตัวเลขที่ต้องไปเคาะกันให้เหมาะสมแล้ว เรื่องของสุขภาพผู้บริโภคการลดพฤติกรรมรับประทานอาหารรสหวานคือวัตถุประสงค์หลัก เหตุเพราะในปัจจุบัน สังคมไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดัน เบาหวาน โรคหลอดเลือด เป็นจำนวนมาก และรัฐต้องแบกภาระบางส่วนที่ต้องดูแลรักษา และกลายเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท การเรียกเก็บภาษีน้ำหวานจึงไม่ต่างจากสัญญาณของความเอาจริงเอาจัง ที่สังคมไทยมีต่อเครื่องดื่มประเภทให้ความหวาน ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การขึ้นราคา 20-25 เปอร์เซ็นต์ จากราคาขายปลีกซึ่งเป็นแนวทางการขึ้นภาษี เบื้องต้นนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการซื้อในต่างประเทศ เพราะมีผลวิจัยระบุว่าการขึ้นราคาที่อัตราร้อยละ 20-25 จากราคาปลีก คือตัวเลขราคาที่ผู้ซื้อต้อง'คิดก่อนซื้อ' ขณะเดียวกันก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ผลิตที่จะแข่งขันในตลาดได้ด้วย
พิจารณาจากบทเรียนจากต่างประเทศที่สนับสนุนการขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลเช่น การขึ้นภาษีของประเทศเม็กซิโกใน ปี 2556-57 บ่งชี้ว่า การเก็บภาษีช่วยให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้จริง โดยหลังจากการขึ้นภาษีพบว่าปริมาณการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีจำนวนที่ค่อนข้างจะคงที่ ในขณะที่การผลิตน้ำดื่มแบบขวดกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการบริโภคน้ำอัดลมมาเป็นน้ำดื่มแบบขวดแทน
"สอดคล้องกรณีศึกษาของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพบว่า อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นเสียอีก ก็จะมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง อีกทั้งภาระของภาษีก็ไม่ได้ตกกับผู้ค้าปลีกที่มักจะมีอำนาจต่อรองต่ำกว่าผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่เป็นกลายเป็นฝ่ายผู้บริโภคเท่านั้นที่จะได้รับผลของภาษีโดยตรง เมื่อผู้บริโภคต้องซื้อเครื่องดื่มในราคาที่ 'แพงขึ้น' จึงมีโอกาสที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างไรก็ตามการขึ้นภาษีเครื่องดื่มเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการตอบโจทย์ลดบริโภคน้ำตาลเท่านั้น แต่ยังมีอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมากเช่นกัน ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเก็บเป็นภาษีจากการผลิตหรือขายน้ำตาลแทนด้วย" นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกข้อเสนอ
ด้าน 'สง่า' ที่ปรึกษากรมอนามัย มองว่า แม้การขึ้นราคาที่สูงขึ้นอาจไม่ได้ผลกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อก็จริง แต่ก็มีแนวโน้ม จะทำให้ลดจำนวนครั้งลงได้ รวมถึงผู้ซื้อหน้าใหม่เองจะเกิดความลังเลที่จะบริโภค อีกทั้งยังกลับมาเป็นโจทย์ของผู้ผลิตที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณน้ำตาลลดลงเพื่อจำกัดต้นทุน ในการเสียภาษี
"นอกจากลดผู้ดื่มหน้าใหม่ ยังมีโอกาสที่ผู้ผลิตจะลดการ เสียภาษี และปรับสูตร เราไม่ได้ต่อต้านเครื่องดื่มที่มีความหวาน แต่แนวทางนี้คือปัจจัยที่จะบอกเขาว่าควรลดปริมาณน้ำตาลลง และมันคงเป็นคนละประเด็นกับการผลักภาระให้ผู้บริโภค เพราะในตลาดเครื่องดื่มยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายซึ่งเป็นทางเลือกได้"
ปรับนิสัย ไม่กินหวาน
คงหนีไม่พ้นนิสัยของการกินหวาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม
ทพญ.ปิยะดา ให้ข้อมูลว่าที่น่ากังวลอย่างมากว่า ผลจากการบริโภคอาหารหวานส่งผลให้โรคฟันผุ คือ โรคลำดับแรกของเด็กไทย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า อายุเด็กที่น้อยที่สุดที่เป็นโรคฝันผุขณะนี้เขยิบขึ้นมาเป็น 9 เดือน กรณีนี้สามารถอธิบายได้ว่า ผู้ปกครองเองยังไม่มีความรู้เรื่องการเลือกอาหารให้กับบุตรหลานด้วยซ้ำ
สง่า ย้ำว่า ต่อให้มีภาษีน้ำหวาน แต่เมื่อ "นิสัยติดหวาน" ยังเลิกไม่ได้ ก็มีแนวโน้มที่คนไทยยังเสี่ยงต่อไป จึงต้องสร้างพฤติกรรมลด-ละ-เลิก ความหวานอย่างถาวร โดยเฉพาะอาหารที่คุ้นเคยกันดีอย่าง กาแฟกระป๋อง น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ซึ่งเคยมีการสำรวจว่า มีปริมาณน้ำตาลมากกว่ามาตรฐานที่ควรได้รับในแต่ละวันทั้งที่ความจำเป็นของการบริโภคน้ำตาลไม่ได้มีมากขนาดนั้น เนื่องด้วยอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ล้วนมีน้ำตาลเพียงพอต่อร่างกายอยู่แล้ว
ควบคู่กับมาตรการรีดภาษี ที่เป็นปัจจัยให้ปริมาณการบริโภคลดลง และผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่มให้หวานลดลงแล้ว เห็นทีสังคมไทยจึงต้องจุดพลุ รณรงค์เรื่องการบริโภคอีกชุดใหญ่ พร้อมๆ คลอดมาตรการควบคุมการบริโภคน้ำตาลให้รัดกุมขึ้น อาทิ การควบคุมการขายน้ำอัดลมการระบุให้ผู้ผลิตบอกค่าของน้ำตาลที่มีอยู่บนฉลากขนม การลดขนาดบรรจุภัณฑ์ของน้ำตาลให้มีขนาดเล็กลงเช่นในต่างประเทศซึ่งมีน้ำตาลซองหลายขนาดให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือก
มากกว่านั้นคือการปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เพื่อให้สังคมไทยบอกลาความเป็น 'สายหวาน' อย่างถาวร ก่อนอีกสารพัดโรคจะถาโถมเข้ามาแบบไม่รู้ตัว